ข่าวด่วน ข่าวสังคม ข่าวอัพเดทรายวัน

นายช่างโครงการถนนห้วยเม็ก-ไทยเจริญ ยันจำเป็นต้องปรับพื้นที่ขยายถนนย้ำกระทบต้นไม้น้อยที่สุด

นายช่างโครงการถนนห้วยเม็ก-ไทยเจริญ ยืนยันการก่อสร้างขยายถนนจำเป็นต้องปรับพื้นที่สองข้างทาง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนกับองค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้แล้ว ขณะที่ผอ.แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ ระบุ การก่อสร้างนำความเจริญต้องควบคู่กับการอนุรักษ์ป่า ย้ำกระทบกับต้นไม้ให้น้อยที่สุด

                จากกรณีการก่อสร้างขยายถนนเชื่อมระหว่างอ.ยางตลาดไปยัง อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ หรือ สายห้วยเม็ก-ไทยเจริญ ของศูนย์สร้างทางขอนแก่น กรมทางหลวง ที่ปัจจุบันกำลังเริ่มดำเนินการก่อสร้าง แม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยในการปรับปรุงพัฒนานำความเจริญมาสู่พื้นที่ และเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แต่หลายคนก็เสียดายทรัพยากรธรรมชาติต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นลงไป โดยเฉพาะช่วงบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง ซึ่งช่วงดังกล่าวมีความยาวหลายกิโลเมตรตลอดสองข้างทางมีต้นไม้ปกคลุมร่มรื่น จนมีการตั้งชื่อว่า “อุโมงค์ต้นไม้ดงระแนง”

                ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 นางดวงตา พายุพล ผอ.แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ นายพิชัย ขำอ่อน วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ศูนย์สร้างทางขอนแก่น สำนักก่อสร้างที่ 2 กรมทางหลวง ซึ่งเป็นนายช่างโครงการถนนตอนห้วยเม็ก-ไทยเจริญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว หลังจากมีการประชุมสรุปร่วมกับนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผวจ.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการก่อสร้างควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและป่าไม้ และกระทบกับต้นไม้สองข้างทางน้อยที่สุด รวมทั้งให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้รถ ใช้ถนน และประชาชนมากที่สุด

                นายพิชัย ขำอ่อน วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ นายช่างโครงการถนนห้วยเม็ก-ไทยเจริญ กล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้างขยายถนนตอนสายห้วยเม็ก-ไทยเจริญ มีระยะทางในการก่อสร้างทั้งหมด 23.5 กิโลเมตร เป็นการพัฒนาปรับปรุงจากเดิม 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร และมีเกาะกลาง งบประมาณทั้งหมด 705 ล้านบาท แผนการก่อสร้าง 5 ปี ทั้งนี้ปัจจุบันศูนย์สร้างทางขอนแก่น สำนักการก่อสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวง ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อเนื่อง เริ่มจากบริเวณใกล้กับตลาดของป่าโสกหินขาว อ.ห้วยเม็กมาจนถึงบ้านแก อ.ยางตลาด โดยได้รับอนุมัติเงินในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างขยายถนนเสร็จสมบูรณ์ 4 เลน มีเกาะกลางระยะทาง 4.2 กิโลเมตร และขยายเส้นทางปูพื้นถึงชั้นหินลูกรังเตรียมลาดยางไว้อีก 3.85 กิโลเมตร

                นายพิชัย กล่าวต่อว่า การก่อสร้างครั้งนี้ เป็นการขยายผิวช่องจราจร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเคลียร์พื้นที่สองข้างทางออกไปข้างละ 20 เมตร ซึ่งอาจจะทำให้ต้นไม้สองข้างทางได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะช่วงบริเวณป่าดงระแนง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าอุโมงค์ต้นไม้ดงระแนง โดยได้ขออนุญาตจากองค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ตามขั้นตอน และให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาดำเนินการตัดต้นไม้ที่เป็นไม้ห้วงห้าม ส่วนไม้ไม้ชนิดอื่นๆเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือในเครื่องเครื่องจักร ปัจจุบันมีการเคลียร์เส้นทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร มีต้นไม้หวงห้าม คือต้นสัก 6 ต้น และต้นกระยาเลยจำนวน 438 ต้น ซึ่งองค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้มีการเก็บรักษาไว้ เพื่อรอการประมูลเป็นรายได้ของแผ่นดิน

                นายพิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีประชาชนวิตกกังวลและเสียดายต้นไม้สองข้างทางนั้น ยืนยันว่าทางโครงการฯมีความจำเป็นที่จะต้องขยายพื้นที่ และล่าสุดเพื่อเป็นก่อสร้างควบคู่กันไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในส่วนของป่าดงระแนง ทางโครงการฯจะมีการปรับลดระยะทางในการขยายถนนสองข้างทางจากเดิมฝั่งละ 20 เมตรสุดเขตทางหลวง ให้เหลือเพียงฝั่งละ 17 เมตร ขยายเท่าที่จำเป็น เพื่อคงต้นไม้ไว้ให้มากที่สุดและเพื่อให้เกิดผลกระทบกับต้นให้น้อยที่สุด

                ด้านนางดวงตา พายุพล ผอ.แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การขยายถนนดังกล่าวมีการจัดทำประชาสัมพันธ์โครงการกับผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนในพื้นที่ สองข้างทาง และผู้นำชุมชนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 400 คน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 โดยมติที่ประชุมอยากให้ทำถนนเป็น 4 เลนตลอดเส้นทาง

                นางดวงตา กล่าวอีกว่า สำหรับเส้นทางที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้เป็นช่วงถนนที่มีความแคบมาก เนื่องจากมี 2 ช่องจราจร ไม่มีไหล่ทาง  และที่สำคัญมีการเกิดอุบัติเหตุที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณป่าดงระแนง มีหลายจุดเป็นทางโค้งแคบ อีกทั้งในช่วงหน้าฝนและช่วงมรสุมมักจะมีต้นไม้ที่อยู่สองข้างทางล้มกีดขวางทางจราจรทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้ว มีความสูงชะลูด เสี่ยงโค่นล้มเมื่อมีฝนตกและพายุลมแรง ซึ่งหากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงนี้ได้อย่างมาก เพราะมีการแบ่งช่องจราจรชัดเจนและความกว้างของคันทางมีมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าพืชผลทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกอ้อยและข้าวจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการก่อสร้างครั้งนี้แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ได้ประสานงานกับทางโครงการฯดำเนินการเพื่อให้กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นไม้ให้น้อยที่สุด