ข่าวอัพเดทรายวัน

กาฬสินธุ์รณรงค์ไม่เผาอ้อยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก

จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมผลักดันให้กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์ (Zero Burning) ในปีการผลิต 2564/2565 ลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ที่แปลงอ้อยเกษตรกร บ้านคำโพนทอง ต.สามขา อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต (Kalasin Green Market) ภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปี 2564 ของ จ.กาฬสินธุ์ โดยมี พ.อ.เรืองพงษ์ วงษ์ศรีสุข รองผอ.กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค ปภ.จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนายคนอง ศักดิ์เพ็ชร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโรงงาน ผู้บริหารกลุ่มมิตรผล นายดอกรักษ์ สุมาลัย ผู้อำนวยการด้านอ้อยโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายคมสันต์ เหล่าจูม ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยร่วมจัดนิทรรศการ และร่วมงานเป็นจำนวนมาก


นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นกิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อย ยกระดับสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของ จ.กาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนและพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการเผาใบอ้อยที่เป็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 การนำเทคโนโลยีเข้าใช้ในการเก็บใบอ้อยขายให้กับโรงงาน สำหรับเป็นเชื้อเพลิงโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โดยรับซื้อถึงตันละ 1 พันบาท เป็นต้น

ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ได้กำหนดยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีวิสัยทัศน์ว่า เป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์ (Zero Burning) ในปีการผลิต 2564/2565 ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมเทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสมในการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยน การผลิตอ้อยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ได้ดำเนินการ จำนวน 7 นิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการเครื่องสางใบอ้อย นิทรรศการรถตัดอ้อย นิทรรศการเก็บใบอ้อย นิทรรศการริปเปอร์ฝังปุ๋ย นิทรรศการใช้น้ำวีแนส นิทรรศการระบบน้ำและโดรน รวมทั้งนิทรรศการแปรรูปผลผลิตอ้อย

อย่างไรก็ตาม อ้อยโรงงานเป็นพืชเศรษฐกิจหลักลำดับที่ 2 ของจังหวัด โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3.85 แสนไร่ รองลงมาจากข้าว ซึ่งในกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยบางพื้นที่จะเผาทำลายใบอ้อยเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการเก็บเกี่ยว ซึ่งวิธีการดังกล่าวส่งผลให้ดินสูญเสียอินทรียวัตถุ ความชื้น ความมีชีวิตของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ทำให้ธาตุอาหารพืชสูญเสีย และสร้างฝุ่นละอองที่เป็นพิษทางอากาศ เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อย ยกระดับสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์ลดการเผาอ้อยเป็นศูนย์ (Zero Burning) ในปีการผลิต 2564/2565 ดังกล่าว