ข่าวอัพเดทรายวัน

อิทธิพลพายุดีเปรสชัน “โคะงุมะ” เติมน้ำเขื่อนลำปาว 100 ล้านลบ.ม. เตรียมส่งช่วยเกษตรกรทำนาปี

อิทธิพลพายุดีเปรสชัน “โคะงุมะ”และต้นฤดูฝนเติมน้ำเข้าเขื่อนลำปาวกาฬสินธุ์ 100 ล้านลบ.ม.ขณะที่ ผอ.โครงการบำรุงและรักษาลำปาว เตรียมระดมทุกภาคส่วนประชุมวางแผนบริหารจัดการน้ำส่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรทำนาปีและทำการประมง

                เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังจากเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝน ประกอบกับจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “โคะงุมะ” ซึ่งมีฝนตกในหลายพื้นที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่างๆมีปริมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำปาว หรือเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งน้ำหลักที่ส่งน้ำให้กับเกษตรกรและใช้อุปโภค บริโภคของประชาชนหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านลบ.ม.ทำให้มีปริมาณเพียงเพียงพอที่จะส่งไปช่วยเหลือพื้นที่ทำนาปีและการประมงหากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง

                นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า หลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีพายุดีเปรสชัน “โคะงุมะ” ซึ่งจากอิทธิพลของพายุมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเติมเข้าอ่างเก็บน้ำลำปาว หรือเขื่อนลำปาว เฉลี่ยวันละ 10-15 ล้าน ลบ.ม.จนถึงขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเติมกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.ส่งผลปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณอยู่ที่ 598 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวมีเพียงพอที่จะส่งน้ำเสริมน้ำฝน โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการทำเกษตร การทำนาปี และการประมง เลี้ยงกุ้งก้ามกรามและปลาได้ในพื้นที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.กมลาไสย อ.ยางตลาด อ.ฆ้องชัย และพื้นที่ใกล้เคียง

                นายฤาชัย กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทางโครงการฯจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุมคณะการจัดการชลประทาน (เจเอ็มซี) ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ และวางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนลำปาวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่มีการดำเนินการซ่อมบำรุงคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นคาดการณ์ว่าทางโครงการฯ จะเริ่มทำการส่งน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมติที่ประชุมคณะการจัดการชลประทาน (เจเอ็มซี) ซึ่งในช่วงนี้เกษตรกรควรที่จะต้องปรับเตรียมพื้นที่และใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและแบ่งปันกันให้มากที่สุด