ข่าวอาชญากรรม

ตร.ห้วยเม็กเรียกสอบครูฝึกลูกเสือโหดสั่งมุดน้ำจมเสียชีวิต

ตำรวจสภ.ห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกผู้เกี่ยวข้องสอบปากคำกรณีเหตุนักเรียนชายชั้นม.3 เข้าร่วมกิจกรรมฐาน “หนีสงครามหลบระเบิด”ค่ายลูกเสือมุดน้ำแล้วจมน้ำเสียชีวิต เบื้องต้นพบไม่มีอุปกรณ์เตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือ ขณะที่ญาติยืนเอาเรื่องถึงที่สุดหากเกิดจากความประมาท ขณะที่ผอ.โรงเรียนอ้างเป็นฐานให้นักเรียนล้างเนื้อล้างตัว

                จากกรณีชุดค้นหาใต้น้ำกู้ภัยร่วมใจกาฬสินธุ์การกุศล ช่วยกันนำร่าง ด.ช.ทองนพเก้า สีทา หรือ “น้องปอน” อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านนาค้อวิทยาคม ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ขึ้นมาจากหนองน้ำหลังวัดบ้านนาค้อที่อยู่ติดกับโรงเรียน หลังจากจมน้ำเสียชีวิตระหว่างร่วมกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ โดยผู้ปกครองและนักเรียนระบุว่าเด็กถูกสั่งให้มุดน้ำฐาน “หนีสงครามหลบระเบิด” ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นจนจมน้ำเสียชีวิต เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา

                ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 มีนาคม 2564 พ.ต.อ.โสณกุญช์ ทรัพย์สมบัติ ผกก.สภ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย ร.ต.อ.อัศวิน หงษ์โยธี พนักงานสอบสวน สภ.ห้วยเม็ก เจ้าของคดีได้เรียกกลุ่มเพื่อนนักเรียนของ ด.ช.ทองนพเก้า พร้อมด้วยนายสมภาร ภูศรีทอง อายุ 54 ปี นางบัวชื่น สีทา อายุ 48 ปี พ่อและแม่ของด.ช.ทองนพเก้า เข้ามาสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องต้น รวมทั้งผู้บริหารและคณะครูของเรียนมาสอบปากคำเพื่อสาเหตุการเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่เพื่อนของผู้เสียชีวิต ระบุว่าการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายลูกเสือ ทุกคนจะถูกสั่งให้เข้าฐานหนีสงครามหลบระเบิดมุดน้ำ โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันและช่วยเหลือจมน้ำ เช่น เสื้อชูชีพ หรือห่วงยาง รวมทั้งไม่มีการกั้นแนวเขตน้ำตื้นและน้ำลึก ส่วนทางด้านผู้อำนวยการและคณะครู เบื้องต้นยังไม่พร้อมที่จะให้ปากคำ เนื่องจากอยู่ในอาการเสียใจและช็อคกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

                ขณะที่นายสุรเชษฐ์ พละเอ็น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเข้าตรวจสอบบริเวณหนองน้ำจุดเกิดเหตุ รวมทั้งสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนายสุนทรา กุลาสา ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูโรงเรียนบ้านนาค้อวิทยาคม พร้อมเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

                ด้านนายสุนทรา กุลาสา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาค้อวิทยาคม ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันเกิดเหตุทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ โดยใช้สถานที่สาธารณะหมู่บ้าน ซึ่งมีสระน้ำสาธารณะห่างอยู่ด้านข้างทิศเหนือ มีถนนคั่นกลาง จากโรงเรียนประมาณ 20 เมตร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมค่ายลูกเสือทุกปี โดยในการจัดกิจกรรมได้ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน กลุ่มละ 13-15 คน เข้าร่วมกิจกรรมฐานต่างๆรวม 6 ฐาน ประกอบด้วย ฐานลำเลียงน้ำ ฐานบัวตูมบัวบาน ฐานท่องกฎและคำปฏิญาณ ฐานเงื่อน ฐานปิดตาไต่เขา และฐานหลบระเบิด แต่ละฐานจะมีครูผู้ควบคุมดูแล 2 คน ซึ่งฐานที่เกิดเหตุเด็กนักเรียนจมน้ำนั้นเป็นฐานที่ 6 ฐานสุดท้าย ได้ให้นักเรียนลงไปในน้ำ เพื่อล้างเนื้อล้างตัว ทั้งนี้ก่อนเกิดเหตุทางคณะครูก็ได้มีการเฝ้าระวังและเช็คจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกฐาน

นายสุนทรา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี ด.ช.ทองนพเก้า ที่จมน้ำเสียชีวิตนั้น คาดว่าไม่มีใครสังเกตเห็น ด.ช.ทองนพเก้า เนื่องจากก่อนเกิดเหตุมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งไม่ได้มาร่วมกิจกรรมในช่วงเช้า แต่กลับมาเข้าร่วมในช่วงบ่าย ซึ่งทางคณะครูผู้ควบคุมได้เช็คจำนวนนักเรียนหลังจากทุกคนขึ้นมาจากหนองน้ำก็พบว่าครบจึงไม่ได้เอะใจ กระทั่งมาทราบทีหลังว่าหายตัวไปและจมน้ำเสียชีวิตดังกล่าว ซึ่งทางโรงเรียนและคณะครูก็รู้สึกเสียใจอย่างมาก ซึ่งพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ และยืนยันว่าฐานค่ายลูกเสือที่ลงไปในน้ำไม่ได้บังคับให้ลงไปทุกคน

ทั้งนี้ สำหรับบรรยากาศงานศพของด.ช.ทองนพเก้า ญาติได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านเลขที่ 280 หมู่ 11 ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัวและญาติ ซึ่งทุกคนต่างติดใจการเสียชีวิตของลูกชายในครั้งนี้ โดยระบุว่าเหตุสลดที่เกิดขึ้น เกิดจากความประมาทของครูผู้ควบคุมกิจกรรม

ด้านนางบัวชื่น สีทา อายุ 48 ปี แม่ของเด็กชายด.ช.ทองนพเก้า กล่าวว่า วันเกิดเหตุทราบว่าทางโรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ แต่ไม่ได้แจ้งว่าจะมีการให้เด็กนักเรียนลงไปมุดน้ำ กระทั่งช่วงเย็นไม่เห็นลูกชายกลับบ้าน ซึ่งปกติจะกลับบ้านตรงเวลา ด้วยความเป็นห่วงจึงไปตามหาลูกชายและสอบถามผู้อำนวยการและครูหลายครั้ง ซึ่งทุกคนก็บอกว่าไม่เห็น อีกทั้งยังไม่ค่อยสนใจ ก่อนที่ชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านจะประกาศออกช่วยกันตามหาแต่ก็ไม่พบ จึงเข้าแจ้งความ และสอบถามเพื่อนของลูกชาย หลายคนเห็นครั้งสุดท้ายตอนที่ลงไปในสระน้ำร่วมกิจกรรมค่ายลูกเสือ เบื้องต้นคาดว่าลูกชายน่าจะจมน้ำ จึงประสานเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ กระทั่งพบว่าลูกชายจมน้ำเสียชีวิตจริงๆ

นางบัวชื่นกล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น การเข้าค่ายลูกเสือไม่ควรที่จะต้องไปลงน้ำ มุดน้ำ โดยเฉพาะคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นอย่างเช่นลูกชายของตน อีกทั้งเท่าที่ทราบการเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์การให้ความช่วยเหลือเด็กก็ไม่มี ซึ่งตนและครอบครัวรู้สึกเสียใจอย่างมากที่ต้องมาเสียชีวิตอย่างกะทันหันอย่างนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและให้ดำเนินการอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับลูกชายของตนด้วย

สำหรับเรื่องของคดีเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ห้วยเม็ก ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุและสอบถามเด็กนักเรียนเบื้องต้นพบว่าการจัดกิกจรรมค่ายลูกเสือ โดยเฉพาะฐานหลบระเบิดที่เป็นจุดเกิดเหตุเป็นสระน้ำขนาดใหญ่กว้างเท่ากับสนามฟุตบอล หลายจุดมีความลึกนั้นไม่มีอุปกรณ์ป้องกันและช่วยเหลือจมน้ำ เช่น เสื้อชูชีพ หรือห่วงยาง รวมทั้งไม่มีการกั้นแนวเขตน้ำตื้นและน้ำลึก ซึ่งพนักงานสอบสวนจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบปากคำอย่างละเอียด และเด็กนักเรียน ซึ่งต้องสอบร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อหาสาเหตุว่าการจมน้ำเสียชีวิตในครั้งนี้เกิดจากความประมาทหรืออุบัติเหตุ

อย่างไรก็ ตามสำหรับครูฝึกชายและหญิง 2 คนที่เป็นครูฝึกและผู้ควบคุมฐานที่เกิดเหตุนั้น เบื้องต้นปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เนื่องจากครูทุกคนยังอยู่ในอาการเสียใจและอาการช็อคกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งยังไม่พร้อมให้ข้อมูล