ข่าวเศรษฐกิจ

เลย จัดงานมหกรรมผ้าไทเลย งานหัตถกรรมและส่งเสริมช่องทางการตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย อำเภอเมืองเลย นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดงานมหกรรมผ้าไทเลย งานหัตถกรรมและส่งเสริมช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมี นายคมสิทธิ์ สุริยวรรณ พัฒนาการจังหวัดเลย นายอำพัน เอกทัตร แรงงานจังหวัดเลย ผศ.ดร.อุเทณ วัชรชิโณรส ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย นายวัชรา สุริยกุล ณ อยุธยา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดเลย นางพิสมัย สันหาชนานันท์ เครือข่าย OTOP จังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เครือข่ายเกษตร ผู้ประกอบการห้างร้าน/ห้างสรรพสินค้า ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน

นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ผ่านโครงการต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่มุ่งให้ผู้ประกอบการภายในชุมชนสามารถนำทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนให้เข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุนและพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด เพื่อเชื่อมโยงสินค้าชุมชน สู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อธำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ และการอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมืองในแต่ละท้องถิ่นให้ดำรงอยู่คู่คนไทย ทั้งยังทรงสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญา ผ้าไทย ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทรงพระราชทานลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ เพื่อสำนึกในพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเป็นการต่อยอดการพัฒนาผ้าลายพระราชทาน ซึ่งกระทรวง มหาดไทยและกรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้จังหวัดส่งมอบลายพระราชทาน ต่อให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัด ได้นำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

นายคมสิทธิ์ สุริยวรรณ พัฒนาการจังหวัดเลย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยรัฐสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุนและพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด เพื่อเชื่อมโยงสินค้าชุมชน สู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จังหวัดเลยได้เห็นความสำคัญของนโยบายในการมุ่งสร้างความเจริญและความแข็งแรงให้เศรษฐกิจชุมชนฐานราก เพื่อให้ชุมชนสามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้แต่ละชุมชนได้นำทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีจุดเด่น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งจังหวัดเลย มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 994 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2,905 ผลิตภัณฑ์ จังหวัดได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ TOP อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดเป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ อีกทั้งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ได้เรียนรู้ทักษะด้านการบริหารจัดการ และการตลาด ทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

อัพเดทล่าสุด เมื่อ 16/09/2023 13:02 น. by อินทรีภูพาน