ข่าวเศรษฐกิจ

หนุ่มใหญ่พลิกวิกฤต ปิ๊งไอเดีย แพ็คอารหารสดใส่รถจักรยานยนต์พวงเร่ขายสร้างรายได้วันละ 2,000 บาท

หนุ่มใหญ่วัย 57 ปีชาวตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ปิ๊งไอเดียช่วงเชื้อโควิด-19 ระบาด  และทางจังหวัดออกมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ โดยสั่งปิดสถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว รวมทั้ง คุมเข้มร้านอาหารหลายแห่ง โดยเฉพาะกักกันบริเวณประชาชนที่เดินทางจากรุงเทพฯ ให้อยู่บ้าน 14 วัน จึงถือเป็นโอกาสสร้างรายได้ โดยไปรับซื้ออาหารจากตลาดสดแพ็คถุงใส่รถจักรยานยนต์หรือรถพุ่มพวงเร่ขายบริการถึงบ้านสร้างรายได้วันละ 2,000 บาท

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ โดยนายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานได้ออกประกาศ พบชาวกาฬสินธุ์ติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายที่ 2 เมื่อวันที่  24 มีนาคม 2563 พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการป้องกันและควบคุมการได้รับเชื้อโควิด-19  โดยครอบคลุมสถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งให้ทำการปิดชั่วคราว 14 วัน ตลอดทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ให้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดในการแยกคน โดยให้ซื้อไปรับประทานอาหารที่บ้าน แทนการนั่งรับประทานในร้าน ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด -19

โดยในช่วงนี้เองทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าต้องปรับตัว ซึ่งผู้สื่อข่าวได้พบพ่อค้าเร่ขายอาหารสดรายหนึ่ง นำอาหารสดทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ลูกชิ้น ผัก ผลไม้ หลายชนิด แพ็คถุงใส่รถจักรยานยนต์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่ารถพุ่มพวงออกเร่บริการขายตามหมู่บ้านต่าง จากการสอบถามทราบชื่อนายสมุทร ปรางชัยภูมิ อายุ 57 ปี บ้านเลขที่ 2 หมู่6 บ้านนาแก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

นายสมุทร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ใช้เวลาว่างไปรับอาหารสดในตลาดสดที่ตัวเมืองกาฬสินธุ์มาแพ็คใส่ถุง และออกเร่ขายตามหมู่บ้านต่างๆในเขต ต.นาเชือก ต.บัวบาน ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด ซึ่งอยู่ห่างไกลตัวเมือง ทั้งนี้ เพื่อหารายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว ทำให้มีรายได้ประมาณวันละ 1,000 บาท และมีลูกค้าขาประจำ โดยจะไปรับของในตลาดตั้งแต่เที่ยงคืน จากนั้นมาแพ็คใส่ถุง จนถึงรุ่งเช้าก็ตะเวนขายให้กับลูกค้าตามหมู่บ้านต่างๆ

นายสมุทร กล่าวอีกว่า กระทั่งช่วงนี้ ที่มีการแพระระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งประชาชนทั่วไปเกิดการตื่นตัว ระมัดระวัง ไม่ค่อยจะออกไปจับจ่ายใช้สอยในแหล่งชุมชน โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดและตลาดสด ประกอบกับมาตรการของทางจัดหวัด ควบคุมพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวัง และเป็นช่วงที่ประชาชนที่ไปขายแรงงานที่กรุงเทพ ฯ ได้เดินทางกลับบ้าน และกักกันบริเวณให้อยู่บ้านถึง 14 วัน ตนจึงอาศัยช่วงจังหวะนี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยไปรับซื้ออาหารสดเพิ่มขึ้นจากเดิม  2 เท่าตัว แต่ยังขายในราคาปกติ และปริมาณเท่าเดิม เริ่มตั้งแต่ 10 – 20 บาท ทำให้มีรายได้ในช่วงนี้ถึงวันละ 2,000 บาท ซึ่งจะไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาแน่นอน เพราะเห็นอกเห็นใจผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่ฐานะยากจน หลายคนว่างงานเพราะสถานประกอบการปิดกิจการ อย่างไรก็ตามสำหรับการที่ตนไปซื้ออาหารมานั้นก็ต้องระมัดระวังตัว โดยสวมหน้ากากทุกครั้ง และหมั่นล้างมือป้องกันด้วย