ข่าวเศรษฐกิจ

ทางรอดชาวบ้าน ผ่าทางตันข้าวเปลือกราคาตกต่ำผุดโรงงานผลิตข้าวคั่วพริกป่นไทบ้าน

พบชาวบ้านในตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สร้างโรงงานผลิตข้าวคั่ว-พริกป่นแห่งแรกในภาคอีสาน ที่ผ่าน อย. พร้อมกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ผ่าทางตันข้าวเปลือกราคาตกต่ำ พร้อมเชิญชวนเพื่อนบ้านปลูกพริกตามคันนาป้อนโรงงาน ส่งขายทั่วภาคอีสาน และ สปป.ลาว-เวียดนาม

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่โรงงานพริกป่น-ข้าวคั่วไทบ้าน เลขที่ 98 หมู่ 9 บ้านหนองกุง ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดป้ายโรงงานพริกป่น-ข้าวคั่วไทบ้าน ของนายพรชัย พะโนราช โดยมีบุคคลในวงการวิสาหกิจชุมชน ตัวแทนกลุ่มผลิตสินค้าแปรรูป ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ร่วมงานและร่วมแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก

นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดตั้งโรงงานผลิตพริกป่น-ข้าวคั่วของนายพรชัย พะโนราช ดังกล่าว ซึ่งเป็นแห่งแรกในภาคอีสาน ที่ผ่าน อย. พร้อมกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกที่ถูกเวลา สามารถที่จะจับเป็นธุรกิจที่ก้าวหน้าและไปต่อได้อย่างมั่นคงยาวนาน เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่นำมาทำข้าวคั่ว และพริกที่นำมาผลิตพริกป่น เจ้าของโรงงานและชาวบ้านในชุมชนเพาะปลูกเองได้ อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจ ให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง เป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตข้าวเปลือกและพริกจากชาวบ้าน ที่จะทำให้เกิดการสร้างงานและเกิดรายได้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองต่อไป

ด้านนายพรชัย พะโนราช เจ้าของโรงงานพริกป่น ข้าวคั่วไทบ้าน กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีก็มีแนวคิดมาจากราคาข้าวที่ตกต่ำ แต่พอตนไปซื้อข้าวคั่ว เพื่อมาทำอาหารทำไมมันแพง จึงเกิดแนวคิดว่าถ้ามาทำขายก็น่าจะสามารถทำได้ อีกทั้งการสร้างโรงงานก็น่าจะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้กับชุมชนในการปลูกพริกแล้วนำมาขายให้กับโรงงานของตน ทั้งนี้ จากการผลิตจำหน่ายมีออร์เดอร์จาก จ.อุบลราชธานี จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และอนาคตจะมีการเพิ่มกำลังผลิตจำหน่ายทั่วภาคอีสาน และทั่วประเทศ รวมทั้ง สปป.ลาวและเวียดนามอีกด้วย

“ทั้งนี้ ทางโรงงานมีกำลังผลิตอยู่ที่ประมาณวันละ 300 ก.ก./วัน หรือ 5,500 ขวด อนาคตจะมีการเพิ่มกำลังผลิตให้มากขึ้นอย่างแน่นอน นั่นหมายความว่าชาวบ้านก็สามารถขายพริกได้มากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้นไปด้วย โดยมั่นใจว่าตัดสินใจถูกทาง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ตัวนี้ คือพริกป่นกับข้าวคั่ว ถือเป็นอาหารหลักของชาวอีสานทุกครัวเรือน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะนิยมนำข้าวคั่วและพริกป่น ซึ่งมีกลิ่นหอม เป็นเครื่องปรุงแพ็คคู่ อาหารประเภทลาบ ก้อย ทั้งดิบและปรุงสุก หรืออาหารขึ้นโต๊ะเมนูต่างๆ ตามร้านอาหารทุกระดับ อย่างไรก็ตามก็ขอเชิญชวนเพื่อนบ้าน ชาวนา ชาวสวน ปลูกพริก โดยเป็นพริกอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี นำผลผลิตตากแห้งป้อนโรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานของชุมชน เพื่อที่จะเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งเป้าหมายคือโรงงานอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้ เพราะมีแหล่งผลิต แหล่งแปรรูปอยู่ในชุมชนของเราเอง ขณะที่ตลาดขายส่งและรับซื้อผลิตภัณฑ์พริกป่น ข้าวคั่วมีอยู่ทั่วประเทศ” นายพรชัยกล่าว