วิถีชีวิต

อากาศเย็นลง ชาวบ้านแห่ขุดปูล่าหนูนาอาหารพื้นบ้านของแซบอีสาน เสริมรายได้หลังเกี่ยวข้าว

ชาวบ้านในที่อาศัยในพื้นที่ชนบท และประกอบอาชีพทำนาในจังหวัดกาฬสินธุ์  นำจอบ เสียม  ลงท้องนา หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จและก่อนที่จะปรับพื้นที่ทำนาปรัง เพื่อขุดหาปูนา ล่าหนูนา กบ เขียด ไปเป็นอาหารในครัวเรือน  ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านยอดฮิตของแซบอีสานอาหารตามฤดู ช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้ง  นอกจากนี้ยังแบ่งจำหน่ายในตลาดชุมชน สร้างรายได้เป็นอย่างดี

                จากการติดตามบรรยากาศการดำเนินชีวิต ของประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูแล้ง พบว่าในส่วนที่ประกอบอาชีพทำนา และอาศัยอยู่พื้นที่ชนบทห่างไกล เช่น องยางตลาด และ อ.เขาวง ต่างมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศ โดยชักชวนกันออกหาอาหารตามท้องนา เช่น กบ เขียด ปูนา และล่าหนูนา  ซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาล ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านยอดฮิตของแซบอีสาน เพื่อนำมาประกอบอาหารในครัวเรือน    ซึ่งชาวบ้านหลายคนเชื่อว่า เนื้อของสัตว์เหล่านี้ จะให้รสชาติมัน อร่อย เนื่องจากเก็บสะสมไขมันไว้มีส่วนเสริมสร้างสุขภาพให้มีความอบอุ่น คลายหนาว 

                นายบัวทอง  ภูแสงศรี อายุ 52 ปี ชาวบ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จและนำขึ้นยุ้งฉางเรียบร้อย ซึ่งเป็นช่วงว่างเว้นจากการทำนา และก่อนที่จะปรับพื้นที่ทำนาปรัง  ตนและเพื่อนบ้าน  จึงได้ชักชวนกันนำอุปกรณ์  เช่น จอบ เสียม  ลงสู่ท้องนา เพื่อหาขุดหากบ เขียด ปูนา หนูนา ที่ขุดรูอยู่ตามท้องนา  ทั้งนี้ เพื่อนำไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน เป็นการประหยัดรายจ่ายที่จะซื้อตามท้องตลาด หากได้จำนวนมากก็จะแบ่งขายที่ตลาดนัดตามชุมชน โดยปูนา จำหน่าย ก.ก.ละ 80 บาท หนูนาตัวละ 50-70 บาท ตามขนาดเล็กหรือใหญ่

                นายบัวทอง กล่าวอีกว่า สำหรับปูนา และหนูนา  ปีนี้ค่อนข้างชุกชุม เพราะถึงแม้ฤดูฝนที่ผ่านมาจะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง แต่ก็ได้รับน้ำจากคลองชลประทานลำปาว จึงไม่ขาดแคลนน้ำ และทำให้มีสัตว์ที่เป็นอาหารหรือของแซบอีสาน เช่น ปูนา หนูนา ชุกชุม ขณะที่ กบ เขียดปีนี้ค่อนข้างหายาก ทั้งนี้ คงเป็นเพราะกำลังจะสูญพันธุ์จากท้องนา เนื่องจากมีเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติไม่ได้ เพราะปุ๋ยเคมีและสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อการขยายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนรสชาติของอาหารตามฤดูกาลในฤดูหนาวนี้ อย่างปูนา จะให้รสชาติที่มัน อร่อย ทำเป็นอาหารได้หลายเมนู  เช่น ทอดกรอบ ป่น ต้ม แกง ใส่กับเครื่องเคียงต่างๆ และสามารถถนอมกินได้ตลอดปี โดยการดอง และปรุงอาหารประเภทตำต่างๆ ขณะที่หูนา นิยม ปิ้ง ย่าง ผัดเย็ด  เนื่องจากในฤดูหนาว หนูนาจะมีการสะสมไขมันในร่างกาย ชาวบ้านหลายคนจึงเชื่อว่า รับประทานหนูนาแล้ว จะเสริมสร้างความอบอุ่น คลายหนาวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

                ขณะที่นายวชิระ  แสงทอง และ นายปรีชา  พิมพาทอง  ชาวบ้านกุดตอแก่น ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ได้ชวนกันออกล่าหนูนา หลังจากเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว โดยทั้งสองคนใช้วิธีการใส่บ่วงดักตามเส้นทางที่หนูวิ่งตามคันนาและป่า โดยการออกล่าหนูนานั้นจะเริ่มตั้งแต่ช่วงที่ ข้าวในนาเริ่มสุกชาวบ้านในเขตพื้นที่อำเภอเขาวงก็จะเริ่มออกหาหนูนาด้วยวิธีการแตกต่างกันออกไปมีทั้งการใส่บ่วง  ใส่กับดัก  ทั้งหมดถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ในการล่าหนูนาแทบทั้งสิ้น

นายวชิระ  กล่าวว่า การใส่บ่วงดักหนูนั้นส่วนมากพวกตนจะเริ่มออกใส่ประมาณ3-4 โมงเย็น หลังเลิกงานเพราะหากดักหัวค่ำมากเกินไป หนูนาจะได้กลิ่นคน ไม่ออกหาอาหาร หรือบางตัวอาจจะออกไปแล้ว วิธีการดักนั้นตนจะเลือกดูเส้นทางเดินของหนู ว่าเดินไปทิศทางไหน และเส้นทางนั้นดูเตียน หรือไม่จากนั้นก็ค่อย ๆ นำบ่วงไปดักตามจุดต่าง ๆ เป้าหมายคือ ดักให้ใกล้แหล่งน้ำมากที่สุดเพราะหลังจากเก็บเกี่ยวเเล้วหนูนาจะมีอาหารไม่มากเหมือนตอนยังไม่มีการเก็บเกี่ยว ดั้งนั้นหนูนาจึงต้องไปหากินใกล้ๆแหล่งน้ำเพราะมีหอยมีปูให้กิน การหาหนูนานั้นเป็นวิถีชาวบ้านช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพราะหากไม่มีการจับหนูนาแล้วถ้าหนูนาเยอะ ก็จะมาสร้างความเสียหายช่วงหน้าทำนา เพราะจะออกมากัดกินต้นข้าวจนเสียหาย

ส่วนหนูนาที่ดักมาได้นั้นส่วนมากก็จะเอามาประกอบอาหารภายในครอบครัวเพราะหนูนาสามารถทำได้หลายเมนู เช่น   หนูนาย่าง คั่วหนูนา ผัดเผ็ดหนูนา แกงฮ่อมหนูนา  ลาบหนูนา สำหรับการนำหนูนามาประกอบอหารนั้นก็เป็นการลดรายจ่ายในครอบครัวได้อีกด้วย