วิถีชีวิต

ชาวอำเภอนาคูทำพิธีอัญเชิญเสามาเสมาโบราญ 8 เหลี่ยมเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดวิสุทธิญาณสุนทร

ชาวบ้านในตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกันทำพิธีอัญเชิญเสามาเสมาโบราญ 8 เหลี่ยม ที่ค้นพบบริเวณสวนของชาวบ้าน เพื่อนำไปเก็บรักษาและสักการะบูชาที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดวิสุทธิญาณสุนทร เบื้องต้นพบเป็นเสาเสมาสมัยทวาราวดีอายุกว่า 1 พันปี

เมื่อเวลา 09.09 น.วันที่ 21 มกราคม 2564  ชาวบ้านกุดตาใกล้หมู่ที่ 4 หมู่ที่7 และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกันประกอบพิธีอัญเชิญเสามาเสมาโบราญ 8 เหลี่ยม ที่ค้นพบบริเวณสวนของชาวบ้าน เพื่อนำไปเก็บรักษาและสักการะบูชาที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดวิสุทธิญาณสุนทร โดยมีนายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอนาคู จ.กาฬสินธุ์  เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยข้าราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน และนางรำจัดริ้วขบวนรำบวงสรวงอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีพระครูกมลธรรมรังสี เจ้าคณะอำเภอนาคู เป็นประธานฝ่ายสงฆ์   

โดยพิธีเริ่มจากประกอบพิธีทางพราหมณ์  เพื่ออัญเชิญและบอกกล่าว ขอขมา ขอพร ต่อรุกขเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นนางรำ ซึ่งเป็นชาวภูไท แต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองก่อนที่จะประกอบพิธีสวดถอดสวดถอนเสาเสมาโบราณ เพื่อยกเสาเสมาโบราณ 8 เหลี่ยมไปเก็บรักษาไว้ไว้ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดวิสุทธิญาณสุนทร (ธ) ซึ่งเป็นสำนักทรงที่พระเทพญาณวิศิษตฏ์ก่อตั้งขึ้นที่บ้านกุดตาใกล้หมู่ที่ 4 เพื่อให้เสาเสมาโบราณอยู่คู่ชุมชนและเก็บไว้เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษา

นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอนาคู จ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า สำหรับเสาทั้ง 2 ต้นที่ประชาชนพบนั้นจากการตรวจพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร จ.อุบลราชธานี รวมทั้งทางพระครู พระอาจารย์ในพื้นที่ที่มีความรู้สันนิฐานว่า เป็นเสาเสมาโบราณที่มี 8 เหลี่ยม คาดว่าเป็นเสาเสมาที่เรียกว่าเสาบริวารของศิวลึงค์สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือสมัยทวาราวดี อายุอย่างน้อยกว่า 1 พันปี ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ตรวจสอบ พร้อมกับลงบันทึกลงทะเบียนเสาโบราณทั้งสองแท่งนี้ไว้แล้ว ส่วนการเก็บรักษานั้น เบื้องต้นเท่าที่มีการพูดคุยกับทางกรมศิลปากรแล้ว พบว่า ชาวบ้านในชุมชนได้ทำประชาคมแล้ว มีความต้องการอยากให้เก็บไว้ในพื้นที่ชุมชน โดยจะนำไปถวายให้กับวัดวิสุทธิญาณสุนทร ซึ่งทางชุมชนได้ออกทุนร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้นมาภายในวัด ตั้งใจเก็บรักษาไว้ให้เป็นสิริมงคลให้กับคนในชุมชนกราบไว้ และศึกษา ซึ่งต่อไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามขั้นตอนในการขออนุญาตเพื่อทำการเก็บรักษาต่อไป

ด้านนายบำรุง คะโยธา ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า เสาเสมาทั้ง 2 ต้นนั้นถือเป็นวัตถุโบราณ ซึ่งชาวบ้านต้องการให้อยู่ในพื้นที่ พบที่ไหนก็ให้อยู่ที่นั้น เพราะที่ผ่านมา มีวัตถุโบราณหลายชิ้นถูกนำออกไปจากพื้นที่ แต่ไม่ได้ถูกเก็บรักษา ทั้งที่เป็นสิ่งเคารพบูชาของชาวบ้านมาก่อน ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าจะเก็บรักษาในพื้นที่ โดยจะรวบรวมวัตถุโบราณต่างๆ ในพื้นที่ที่ค้นพบมาไว้ด้วยกันเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนต่อไป

ขณะที่นายวสันต์ เทพสุริยานนท์  นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปากร กล่าวว่า สำหรับเสาเสมาที่พบทั้งสองต้นเท่าที่ตรวจสอบจากรูปร่างเบื้องต้นน่าจะเป็นเสาเสมาสมัยทวาราวดีมีอายุเก่าแก่กว่า 1 พันปี ซึ่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีการค้นพบเสาเสมา หรือใบเสมาค่อยค้างหน้าแน่พบในหลายอำเภอ อย่างไรก็ตามในส่วนกรณีการเก็บรักษานั้นจะต้องดูความพร้อมของชุมชนเป็นหลัก ซึ่งหากชุมชนมีความพร้อมในการเก็บรักษาและสามารถที่จะดูแลมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นได้ ทางกรมศิลปากรก็ยินดีที่จะส่งเสริม ตามแนวทางของอธิบดีกรมศิลปากรที่เคยให้ไว้ แต่หากชุมชนไม่มีความพร้อมก็จะเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพื่อเป็นไปตามกฎหมายของกรมศิลปากร ต่อไป