วิถีชีวิต

ขายได้ มีกำไร เลี้ยงโคสายพันธุ์ชาโรเลส์และบราห์มันประหยัดหญ้าหน้าแล้งกินง่ายโตไว

พบหนุ่มชาวตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ทิ้งธุรกิจส่งสินค้าหลังประสบภาวะเศรษฐกิจขาดทุน หันมาตั้งฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อสายพันธุ์ชาโรเลส์ที่บ้านเกิด เหมาะกับสภาพพื้นที่และดินฟ้าอากาศ แม้ประสบปัญหาภัยแล้ง  ขาดแคลนหญ้า เผยเลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้เนื้อมาก เชื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่มีอนาคต ดีกว่าเลี้ยงโคสายพันธุ์อื่นที่เลี้ยงยาก เป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานและตอบโจทย์การเลี้ยงโคอย่างไรให้อยู่ได้ ขายได้ มีกำไร

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง พบชายหนุ่มชาวบ้านนาเชือกใต้ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อดีตผู้ประกอบการขายส่งสินค้าและพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งแถวภาคตะวันออกกลับบ้านเกิด โดยตั้งฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อ สายพันธุ์ชาโรเลส์และบราห์มัน ประสบความสำเร็จ มีโคเนื้อหมุนเวียนเพื่อการค้าเที่ยวละกว่า 30 ตัว โดยแต่ละวันมีชาวบ้าน เกษตรกรผู้เลี้ยงโค แวะเวียนไปติดต่อ และขอคำปรึกษาเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่ พบนายสุพิน ภูถินโคก อายุ 34 ปี อยู่านเลขที่ 330 บ้านนาเชือกใต้ หมู่ 10 ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เจ้าของค้ำคูณฟาร์ม โดยมีชาวบ้านผู้สนใจ เข้าชมกิจกรรมในฟาร์มและโคพันธุ์เนื้อ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ชาโรเลส์และบราห์มัน จำนวน 6 ตัว ขณะที่อีก 24 ตัว นำไปปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติในแปลงนา

นายสุพิน ภูถินโคก อายุ 34 ปี เจ้าของฟาร์มกล่าวว่า อดีตตนเคยประกอบธุรกิจขายส่งสินค้า และเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเขตอุตสาหกรรม จ.ระยอง เนื่องจากธุรกิจประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงได้กลับบ้านเกิดเลี้ยงโคเนื้อสายพันธุ์บราห์มัน ก่อนที่จะต่อยอดมาเป็นสายพันธุ์ชาโรเลส์เพื่อจำหน่ายเป็นโคเนื้อ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า ที่สนใจจะซื้อไปผสมพันธุ์ และจำหน่ายในรูปแบบเนื้อสด ต่อมาเมื่อได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จึงได้นำเข้าพ่อพันธุ์จากอเมริกาเพื่อจำหน่ายน้ำเชื้อด้วย

นายสุพิน กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าตลาดโคเนื้อซบเซาไปมาก เนื่องจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทำให้บรรยากาศการเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ผสมและศูนย์ผลิตน้ำเชื้อเพื่อจำหน่ายไม่คึกคักเท่าที่ควร ฟาร์มหลายแห่งปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตนเป็นลูกชาวนา ชีวิตเคยผูกพันอยู่กับโค ที่เป็นสัตว์เลี้ยง พอกลับบ้านเกิดอีกครั้งในปี 2560 จึงรวบรวมทุนทรัพย์ที่พอมีอยู่ สั่งซื้อโคเนื้อสายพันธุ์บราห์มันและพันธุ์ชาโรเลส์มาขุน ซึ่งกระแสตอบรับในพื้นที่ดีขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะสายพันธุ์ชาโรเลส์ ซึ่งปัจจุบันนี้มีเจ้ามาริโอเป็นพ่อพันธุ์ และพ่อพันธุ์นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและนำตัวอ่อนมาเกิดในไทย มีโคเนื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ในฟาร์มและในแปลงจำนวน 30 ตัว

นายสุพิน กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่โคเนื้อสายพันธุ์ชาโรเลส์ได้รับความนิยมนั้น เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้เนื้อมาก มีความต้านทานต่อโรค สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศบ้านเราได้ดี โดยเฉพาะกินอาหารไม่เลือก และแทบจะไม่ต้องให้อาหารเสริมเลย เพราะธรรมชาติของโคสายพันธุ์นี้จะกินฟางแห้ง ขณะที่ท้องถิ่นบ้านเรามีให้กินทิ้งฟางและหญ้า ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในฤดูแล้งจึงไม่ต้องกังวลว่าจะขาดแคลนหญ้าหรืออาหารเลี้ยงโค เพราะสามารถกินฟางเป็นอาหารหลักได้ ที่สำคัญคือไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของโครงสร้าง และการสร้างกล้ามเนื้อของโค

นายสุพินกล่าวต่อว่า ค้ำคูณฟาร์มได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐานแช่แข็ง นำเข้าจาก สหรัฐอเมริกา ชาร์โรเล่ส์แท้ 100% บริการน้ำเชื้อชาโรเลส์และน้ำเชื้อบราห์มัน ทั้งไทยและนอก  พร้อมบริการเคลื่อนย้ายโคทั่วภาคอีสาน ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ การตั้งฟาร์มเลี้ยงโคของตน ไม่เพียงแต่ตนจะได้กลับมาอยู่บ้านเกิดเท่านั้น ยังมีส่วนช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและชุมชน มีรายได้จากการจำหน่ายโค รายได้จากการจำหน่ายเนื้อสดและแปรรูป เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน รวมทั้งได้ปุ๋ยคอกจำหน่ายหรือบำรุงพืช นาข้าว แปลงอ้อย แปลงมันสำปะหลังอีกด้วย

“ดังนั้นการเลี้ยงโคเนื้อดังกล่าว โดยเฉพาะพันธุ์ชาโรเลส์นั้น ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่มีอนาคต ดีกว่าเลี้ยงโคสายพันธุ์อื่นที่เลี้ยงยาก และตลาดแคบลง นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้คนกลับถิ่นเป็นจำนวนมาก  หากหันมาเลี้ยงโคเนื้อ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานและตอบโจทย์การเลี้ยงโคอย่างไรให้อยู่ได้ ขายได้ มีกำไร ได้เป็นอย่างดี เพราะจุดเด่นของพันธุ์ชาโรเลส์คือโตเร็ว อายุ 6 เดือนจำหน่ายได้ และสามารถผสมพันธุ์ได้ แม้ในสภาพอากาศที่แห้งแล้งก็เลี้ยงง่าย กินง่าย เพราะประหยัดหญ้า กินแต่ฟางแห้งก็อ้วนท้วนสมบูรณ์และให้เนื้อมาก  ปัจจุบันตลาดทุกระดับ มีความต้องการเนื้อโคพันธุ์ชาร์โรเลส์เป็นอย่างมาก” นายสุพินกล่าว