วิถีชีวิต

ปลุก”คนกาสิน”ลุยแปลงเกษตรโคกหนองนาพัฒนาชุมชนยั่งยืน

รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจนได้อย่างยั่งยืน ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมจัดกิจกรรมคิกออฟเอามื้อสามัคคีโคกหนองนาพัฒนาชุมชน

                เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 3 นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมคณะ ได้เดินทางมอบนโยบายการขับเคลื่อนโครงการต่างๆของกรมการพัฒนาชุมชน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินการงานของสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาข้อมูลภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล, โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” และโครงการวัดประชารัฐสร้างสุข ขยายผลปลูกผักสวนครัวต้นแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหารจากวัดสู่ชุมชนตามหลักบวร  โดยมีนายอุทัย สิงห์ทอง หัวหน้าสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ นายชัชชัย กลีบมะลิ  ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายมีชัย นาใจดี หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางพรหมภัสสร ภูมิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ และพัฒนาการอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ร่วมรับมอบนโยบายและรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน

จากนั้นนายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอุทัย สิงห์ทอง หัวหน้าสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมพัฒนาการอำเภอ 18 อำเภอและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามและตรวจเยี่ยมแปลงต้นแบบปลูกผักสวนครัวที่บ้านหนองโพน ม.3 ต.นาจำปา อ.ดอนจาน และตรวจเยี่ยมแปลงโคกหนองนาพัฒนาชุมชนที่บ้านหนองแคน และรับฟังสรุปรายงานการดำเนินงาน พร้อมร่วมกิจกรรมคิกออฟ เอามื้อสามัคคีโคกหนองนาพัฒนาชุมชน ที่แปลงต้นแบบนายบุญสวน การเกษม บ้านหนองแคน หมู่ 1 ต.ดอนจาน อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์

นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจนได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายจำนวน 2,446 แปลง ครอบคลุมทุกตำบลใน 18 อำเภอ ซึ่งหมายถึงเกษตรกรมีความต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการว่างงาน และยากจนอย่างยั่งยืน โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนเป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้มีการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน โดยไม่เสียความสมดุล

นายนิวัติ กล่าวอีกว่า เจตนารมณ์ของโครงการดังกล่าว ถือเป็นการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยุคใหม่ เพื่อปรับกรอบแนวแนวคิดของเกษตรกรกับปรัชญาดั้งเดิม และปรับกรอบแนวความคิด เพื่อเตรียมชุมชนเข้าสู่โลกยุคใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ทั้งนี้ยึดหลักการพัฒนา 3 ด้านคือ เพื่อความอยู่รอดอยู่ได้, เพื่อความพอเพียง  และเพื่อความอยู่รอดอยู่ได้พอเพียงอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการนอกหนองนาโมเดล  เป็นโครงการที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด 5 ไร่ลงมา ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างส่วนราชการกับเกษตรกร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ สามารถให้คนอื่นมาเรียนรู้กับเราได้ อย่างไรก็ตามโมเดลนี้เหมาะกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างยิ่ง หากสามารถบริหารจัดการและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประโยชน์ที่จะได้จากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”  คือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ดึงคนให้อยู่ในพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงระบบนิเวศได้หลายมิติ เช่น ได้แหล่งน้ำ ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ สังคมเกื้อกูลกัน  วิถีชุมชนเกิดความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง และด้านชีวภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น