วิถีชีวิต

กาฬสินธุ์เกษตรกรปรับผืนนาปลูกมันถั่วข้าวโพดขายหลังข้าวเปลือกตกต่ำกก.ละ5บาท

ผลกระทบจากราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปีที่ตกต่ำ เริ่มต้นเพียงกิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้ชาวนาประสบปัญหาขาดทุน เป็นเหตุให้ชาวนาในเขตพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว ที่เคยปลูกข้าวนาปรังติดต่อมานับ 10 ปี หันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น มันสำปะหลัง ถั่วฝักยาว ข้าวโพด หวังราคาขายสูงกว่าข้าวเปลือกนาปรัง คาดพื้นที่ทำนาปรังมีแนวโน้มหายไปไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของชาวนาใน จ.กาฬสินธุ์ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีเสร็จสิ้น โดยส่วนมากนำข้าวเปลือกไปขาย และแบ่งไว้เป็นอาหารในครัวเรือน จากนั้นในฤดูแล้ง ทำการเพาะปลูกพืชประจำฤดู โดยเฉพาะในพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาจะมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่ แต่จากภาพที่ปรากฏในวันนี้ ชาวนาปรับเปลี่ยนผืนนาข้าวมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าวนาปรังกันเป็นจำนวนมาก หลังที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำกิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้ขาดทุน

นายสมบัติ ภูถาดลาย อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 76 หมู่ 10 บ้านโนนสามัคคี ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในฤดูแล้งทุกปีที่ผ่านมามา ตนจะทำนาปรัง โดยทำนาหว่าน เพื่อความสะดวก ประหยัดต้นทุน มีน้ำเพียงพอ ราคาดี พอขายมีกำไรบ้างนิดหน่อย แต่ผลสืบเนื่องจากราคาข้าวเปลือกนาปี ที่โรงสีและลานรับซื้อทั่วไปรับซื้อในราคาต่ำในปีนี้เพียงกิโลกรัมละ 5 บาท ขณะที่ราคาปุ๋ยเคมี ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าวสูงมาก ชาวนาทุกคนประสบปัญหาขายข้าวขาดทุน สำหรับตนมีไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำนาปรังอีก เพราะหากทำก็คงจะขาดทุน จึงหันมาปลูกข้าวโพดและถั่วฝักยาวแทน ขณะที่เพื่อนชาวนาหลายรายก็หันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง หรือพืชตระกูลแตงอื่นๆ

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดรองรับผลผลิต ก็จะนำจำหน่ายตามตลาดชุมชน และตามหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าจะได้กำไร ไม่ขาดทุน ไม่เหมือนปลูกข้าวหรือทำนาปรัง เพราะการปลูกข้าวโพดและถั่วฝักยาว ดูแลง่าย ไม่สิ้นเปลืองปุ๋ยเคมี ไม่ต้องจ้างแรงงานหรือรถเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะราคาซื้อขายสูงกว่าข้าวเปลือกเสียอีก เช่น ข้าวโพด 3 ฝัก ราคา 20 บาท หรือถั่วฝักยาวกำละ 10 บาท การเปลี่ยนอาชีพจากทำนาปรัง มาปลูกข้าวโพดและถั่วฝักยาว จึงมั่นใจว่าจะมีรายได้ดี มีกำไรกว่าทำนาปรังแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกนาปีที่ตกต่ำ ทำให้ชาวนาไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงทุนทำนาปรังดังกล่าว จากการสำรวจพบว่ามีการเปลี่ยนอาชีพ โดยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกข้าว จึงทำให้พื้นที่นาปรังในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว เดิมในปี 2563 เคยมีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งกว่า 120,000 ไร่ ซึ่งในช่วงปลายปี 2564 และต้นฤดูปลูกพืชหน้าแล้งพื้นที่ข้าวนาปรังมีแนวโน้มลดลงอย่างน้อย 5,000 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน