ประชาสัมพันธ์ วิถีชีวิต

นายอำเภอกมลาไสยไอเดียเจ๋งนำชาวบ้านประดิษฐ์ธุงแก้วกมลา

นายอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นำชาวบ้านประดิษฐ์ “ธุงแก้วกมลา” สร้างอัตลักษณ์และภาพจำใหม่ให้กับอำเภอ   กมลาไสย นำไปประดับประดาในงานประเพณีมาฆบูชา “มาฆปูรณมีบูชา” เกิดภาพมุมมองใหม่สวยงาม ตระการตา สร้างความฮือฮาให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

วันที่ 8 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเตชิต ทรงบุญศาสตร์ นายอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นชาวบ้าน  เกี่ยวกับบรรยากาศการจัดงานประเพณีมาฆบูชา “มาฆปูรณมีบูชา”  ประจำปี 2566 ที่จัดขึ้น ณ บริเวณพระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง ต.หนองแปน อ.กมลาไสย โดยงานดังกล่าวดำเนินการจัดมาตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 12 มี.ค. ที่จะถึงนี้

นายเตชิต ทรงบุญศาสตร์ นายอำเภอกมลาไสย กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อพบปะ เยี่ยมเยือนชาวบ้านหลายชุมชน ในเขต อ.กมลาไสย พร้อมประเมินผลการจัดงานประเพณีมาฆบูชา “มาฆปูรณมีบูชา”  และเชิญชวนชาวบ้านใช้เวลาว่างประดิษฐ์ “ธุงแก้วกมลา” ทั้งนี้ จากการสอบถามชาวบ้าน ทราบว่ากระแสตอบรับดีมาก ภาพรวมทั้งรูปแบบการจัดงาน บรรยากาศในงาน การค้าการขายคล่องตัวดี มีประชาชน นักท่องเที่ยว จากทุกสารทิศมาเที่ยวชมงาน  เลือกซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่น้อยกว่าวันละ 10,000 คนทีเดียว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการจัดงาน ที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมให้การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นและราบรื่นด้วยดี

นายเตชิต กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่ายินดีอีกประการหนึ่งคือ เสียงชื่นชมกับความงดงาม ตระการตาของทะเลธุงอีสานเกือบ 3,000 ต้น ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ในการจัดงาน  โดยเป็นธุงที่เกิดจากการประดิดประดอยด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านทุกชุมชน ในเขต อ.กมลาไสย แต่เดิมประดิษฐ์เป็นธุงรูปแบบต่างๆ เช่น ธุงไยแมงมุม ธุงดาว อย่างไรก็ตาม ในการประดิษฐ์ธุงประดับในงานประเพณีมาฆบูชา “มาฆปูรณมีบูชา” ประจำปีนี้  เพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับงาน  และเป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับ อ.กมลาไสย ตนได้ออกแบบ “ธุงแก้วกมลา” ขึ้นมาใหม่ เน้นสีชมพูสดใส คล้ายสีของกลีบดอกบัว โดยมีนางคำจันทร์ อิ่มพัฒน์ สารวัตรกำนันตำบลกมลาไสย  นำพาพี่น้องประชาชน และจิตอาสาทุกหมู่บ้านร่วมกันประดิษฐ์ จำนวน 111 ธุง ทั้งนี้ ตนได้ลงพื้นที่ติดตามผลเอง เพื่อให้ธุงได้มาตรฐานเดียวกัน ใช้เวลาประมาณ 15 วันแล้วเสร็จ ก่อนนำไปปักประดับที่ทะเลธุงอีสาน

สำหรับความหมาย “ธุงแก้วกมลา” โดยคำว่า “แก้วกมลา” แปลว่าดอกบัวแก้ว ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่และสอดคล้องกับความหมายของชื่ออำเภอกมลาไสยที่แปลว่าดอกบัว เดิมชาวบ้านช่วยกันประดิษฐ์ธุงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีความเชื่อว่าธุง เป็นสัญลักษณ์ของการบูชา และเปรียบดั่งบันไดสวรรค์ เป็นสื่อกลางในการเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประดิษฐ์ธุงแก้วกมลา ได้สร้างความฮือฮาและมีการกล่าวขานชื่นชมในโลกโซเชียลอย่างแพร่หลาย ถือเป็นการสร้างอัตลักษณ์และภาพจำใหม่ให้กับ อ.กมลาไสย ตนจึงมีนโยบายให้ทุกหมู่บ้านประดิษฐ์ธุงแก้วกมลาอย่างต่อเนื่อง สำหรับนำไปประดับในงานประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ตลอดปี สำหรับประชาชน นักท่องเที่ยว ที่ต้องการจะมาชมความสวยงาม ตระการตาของธุงแก้วกมลา สามารถมาชม บันทึกภาพ และเซลฟี่ได้ ในงานประเพณีมาฆบูชา “มาฆปูรณมีบูชา” ทะเลธุงอีสาน ที่ อ.กมลาไสย ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-12 มีนาคม 2566 ที่บริเวณพระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง