วิถีชีวิต

โอกาสทองชาวบ้านเก็บหัวมันสำปะหลังตากแห้งราคาสูงก.ก.ละ 7 บาท

ชาวบ้านในตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้เวลาว่างในฤดูแล้ง หาเก็บหัวมันสำปะหลังที่ตกหล่น หลังจากเจ้าของไร่เก็บผลผลิตไปขาย  โดยนำมาสับตากแห้งและรวบรวม ก่อนนำไปขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 7 บาท ถือเป็นโอกาสทองทำเงินในช่วงนี้ ระบุสร้างรายได้เสริมเข้าครัวเรือนถึงเดือนละ 1 หมื่นบาท

วันที่ 17 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ที่อาศัยนอกเขตชลประทานลำปาว และขาดโอกาสในการประกอบเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ พบว่าชาวบ้านหนองกาว ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้ใช้เวลาว่างตระเวนเก็บหัวมันสำปะหลังตามไร่มันสำปะหลัง ที่เจ้าของไร่มันเก็บผลผลิตไปแล้ว ซึ่งมีหัวมันตกหล่นและเจ้าของไร่มันอนุญาตให้เข้าไปหาเก็บ เพื่อนำไปฝานโดยใช้มีดสับ ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง กลายเป็นมันเส้นหรือมันตากแห้ง นำไปขายให้กับแหล่งรับซื้อในราคาสูงถึง ก.ก.ละ 7-8 บาททีเดียว

นางบุญธรรม หอมสมบัติ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ 5 บ้านหนองกาว ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ราคาขายผลผลิตหัวมันสำปะหลังปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วราคา ก.ก.ละ 2.50 บาท ขณะที่ปีนี้ราคาขยับขึ้นมาเป็น ก.ก. 3.60-3.80 บาท ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่มันยิ้มได้ หักค่าใช้จ่ายทั้งค่าปุ๋ยเคมี ค่าแรง ก็มีกำไร ถือเป็นพืชเศรษฐกิจทำเงิน ทำง่าย ต้นทุนค่อนข้างต่ำ ราคาขายผลผลิตดีกว่าปลูกอ้อย ข้าว และยางพาราก็ว่าได้

นางบุญธรรมกล่าวอีกว่า เมื่อหัวราคาหัวมันสำปะหลังสดสูงขึ้น เปรียบเสมือนหัวมันสำปะหลังทุกหัวมีมูลค่ามากขึ้น ถือเป็นโอกาสทองของชาวไร่มันสำปะหลัง และชาวบ้านที่ว่างงานอยู่ในช่วงฤดูแล้ง ตนและเพื่อบ้าน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ก็ได้ตระเวนหาเก็บหัวมันที่ตกหล่น รวมทั้งใช้เสียมขุดหาตามเหง้ามันสำปะหลัง หรือจุดที่คิดว่าผ่านรถไถขุดหัวมันสำปะหลังขึ้นมาไม่หมด ก็จะได้หัวมันสำปะหลังวันละ 2-3 กระสอบทีเดียว โดยไร่มันที่เข้าไปเก็บหัวมันนั้น เจ้าของไร่มันได้ขุดหัวมันไปขายแล้ว และอนุญาตให้เข้าไปเก็บโดยไม่หวงห้ามแต่อย่างใด ทั้งนี้ เริ่มไปหาเก็บหัวมันมาตั้งแต่เริ่มฤดูเก็บผลผลิต คือเดือน ธ.ค.65 เป็นต้นมา

นางบุญธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหัวมันที่เก็บได้จะนำมาสับหรือผ่าด้วยมีด นำไปผึ่งแดด 3-4 แดดให้แห้ง จากนั้นรวบรวมไว้ครั้งละ 15-20 กระสอบ นำไปขายให้กับแหล่งรับซื้อในราคา ก.ก.ละ 7-8 บาท ได้เงินครั้งละ 4,000-5,000 บาท ในรอบ 1 เดือนนำไปขาย 2 ครั้ง รายได้รวมตกเดือนละ 10,000 บาท ถือเป็นรายได้เสริม ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในช่วงนี้เป็นอย่างดี อย่างที่เรียกว่าเป็นโอกาสทองของชาวบ้านหนองกาวเลยทีเดียว