วิถีชีวิต

เลย จัดงานเทศกาลงานสีสันเมืองเลย และการแสดงหน้ากากนานาชาติMask Festival 2023มี7ผีเข้าร่วมงานอย่างยิ่งใหญ่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานพญานาค ปู่ไหลคำมาสวนสาธารณะกุดป่อง ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ งานสีสันเมืองเลย และการแสดงหน้ากากนานาชาติ “Mask Festival 2023” โดยมี นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเลย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดเลย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายกเทศมนตรีเมืองเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ททท.สำนักงานเลย ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย ร่วมงานพิธีเปิด

นางสาวณัณธิญาจ์ มังคละคีรี วัฒนธรรมจังหวัดเลย กล่าวรายงานว่า งานสีสันเมืองเลย และการแสดงหน้ากากนานาชาติ Mask Festival 2023 เกิดขึ้นด้วยการบูรณาการของหน่วยงาน ได้แก่ จังหวัดเลย โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเลย ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เทศบาลเมืองเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย หอการค้าจังหวัดเลย สภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดเลย และภาคีเครือข่าย นำเสนอการแสดงหน้ากากนานาชาติ จาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลาว และไทย สำหรับจังหวัดเลย นำเสนอหน้ากาก 3 ผี ได้แก่ ผีตาโขน ผีขนน้ำ ผีบุ้งเต้า โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย นำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตามแนวคิดยกระดับ Soft power ของไทยสู่เวทีโลก กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับประชาชน และเป็นการยกระดับงานเทศกาลท้องถิ่น สู่ระดับนานาชาติ โชว์สุดยอด อัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านระบบออนไลน์และสื่อต่างๆ และชวนเที่ยว ชิม ช้อป แชร์ แชะถ่ายภาพประทับใจ

โดยกิจกรรมประกอบไปด้วย 1.ขบวนแห่พาเหรดหน้ากากนานาชาติ 7 ประเทศ 2.การแสดงแสง สี เสียง ม่านน้ำ และน้ำพุเล่นดนตรี ที่บอกเล่าเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเลย 3.กิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองเลยเสมือนจริง 360 องศา ด้วยเทคโนโลยี Virtual reality หรือวีอาร์ (VR) เป็นการสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวในโลกเสมือนจริง เช่น ภูบ่อบิด ภูพุทโธ ห้วยกระทิง 4.กิจกรรมถ่ายภาพร่วมกับสตรีทอาร์ต รูปแบบ 3 มิติ อย่างหลากหลายจากกลุ่มศิลปินเลยตามเลย และถ่ายภาพเช็คอินกับ Colorful Landmark หน้ากาก 3 ผี (ผีตาโขน ผีขนน้ำ และผีบุ้งเต้า) ณ ลานพญานาค 5.กิจกรรมถนนสายศิลปะประกอบด้วย การสาธิตวาดหน้ากาก 3 ผี ปีตาโขน ผีขนน้ำ ผีบุ้งเต้า การทอของที่ระลึกหน้ากาก 3 ผี ผีตาโขน ผีขนน้ำ ผีบุ้งเต้า การเพนท์เสื้อ หน้ากาก 3 ผี ผีตาโขน ผีขนน้ำ ผีบุ้งเต้างานหัตถศิลป์และงานประดิษฐ์ หน้ากาก 3 ผี ผีตาโขน ผีขนน้ำ ผีบุ้งเต้า งาน ECO print ภาพหน้ากาก 3 ผี งานหัตถกรรมพื้นถิ่นไทเลย 6.กิจกรรมตลาดไทเลย ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม จากเครือข่ายภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT /สินค้า Loei the Best และสินค้า OTOP การนำเสนอและยกระดับอาหารพื้นถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน สามารถนำครัวไทยสู่ครัวโลก ต่อไปในอนาคต การนำเสนอผ้าฝ้าย ผ้าทอพื้นถิ่น และการตัดเย็บแบบร่วมสมัย จากเครือข่ายกลุ่มทอผ้าของจังหวัดเลย ภายใต้แนวคิด “จากเส้นฝ้าย สู่ผืนผ้า จากภูมิปัญญาสู่ลวดลายที่สวยงาม” เพื่อสืบสาน ส่งเสริมและปลุกกระแสค่านิยมการสวมใส่ผ้าฝ้าย และสร้างรายได้ให้กับชุมชน 7. กิจกรรมถนนคนเดินเลาะเลย ประกอบด้วยการจำหน่ายสินค้า อาทิเช่น อาหาร เสื้อผ้า และผลผลิตทางการเกษตร และอื่นๆ มากกว่า 300 ร้าน 8.การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จากสถานศึกษา และเยาวชนของจังหวัดเลย โดยงานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17 – 19 มีนาคม 2566 ณ ลานพญานาค ปู่ไหลคำมา สวนสาธารณะกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย

นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จากที่จังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต เป็นเสน่ห์ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีการนำเสนออัตลักษณ์หน้ากากอันโดดเด่น ของจังหวัดเลย รวมทั้งการสาธิต และจำหน่าย งานศิลปะ กิจกรรมด้านหัตถศิลป์ หัตถกรรม และการแสดงทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดคุณค่าและมูลค่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ทั้งในระบบออนไลน์ ออฟไลน์และผ่านสื่อต่างๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัย รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชน ประชาชน สถานศึกษา กลุ่มศิลปินต่างๆ ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน จังหวัด และประเทศ อีกทั้ง ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม