
นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับคณะสงฆ์ 137 วัด ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน 15 ตำบล 208 หมู่บ้าน สร้างหลักจารึก “ตระกูลภู” แห่งเดียวในโลก และสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งเดียวในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแสดงความกตัญญูและเชิดชูบรรพชนคนเมือง “ภูแล่นช้าง” ในอดีต รวบรวมต้นตระกูล “ภู” กว่า 1,314 สกุล เตรียมจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ 5 วัน 5 คืน ในโอกาสครบรอบ 118 ปี อำเภอยางตลาด


วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างหลักจารึก “ตระกูลภู” หลังเริ่มโครงการมาตั้งแต่ต้นปี 2568 และประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา



โดยระบุว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 เดือนเสร็จ จากนั้นตกแต่งสถานที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม เพื่อเป็นเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความภาคภูมิใจของชาว อ.ยางตลาด นอกจากนี้ ยังจะเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาอ.ยางตลาด ที่เป็นหน้าด่านของ จ.กาฬสินธุ์ด้านทิศตะวันตก ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์แห่งการท่องเที่ยวแห่งใหม่ในตัวอำเภอ ใกล้กับหมู่บ้านโบราณ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง สวนสาธารณะหนองหมาจอก ด้านหลังที่ว่าการอำเภอ และเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเขื่อนลำปาว พิพิธภัณฑ์สิรินธร อ.สหัสขันธ์ วัฒนธรรมผู้ไท อ.คำม่วงอีกด้วย โดยงบประมาณได้จากการร่วมบริจาคของส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนชาว อ.ยางตลาด



นายเอกรัตน์กล่าวว่า อ.ยางตลาด เป็น 1 ในจำนวน 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นอำเภอที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดรองจาก อ.เมืองกาฬสินธุ์ เดิมชื่อ “อำเภอปจิมกาฬสินธุ์” (กาฬสินธุ์ตะวันตก) ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2451 ที่บ้านดงเค็ง หมู่ที่ 4 ต.ดอนสมบูรณ์ หลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ และแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ต่อมาทางราชการเห็นว่า การตั้งชื่ออำเภอโดยใช้ทิศทางเป็นหลัก จะทำให้ประชาชนเข้าใจยาก จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอปจิมกาฬสินธุ์ เป็นอำเภอภูแล่นช้าง ใน พ.ศ. 2456 เพื่อรักษาชื่อเมืองภูแล่นช้างไว้ไม่ให้สูญหายไป



“หลังจากนั้น ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอภูแล่นช้าง จากบ้านดงเค็งมาตั้งที่บ้านยาง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหนองหมาจอก ใน พ.ศ. 2460 จึงมีการเปลี่ยนชื่ออำเภอจากภูแล่นช้าง เป็นอำเภอยางตลาด ตามชื่อบ้านยางซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติขนานนามสกุล ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนชื่อจากอำเภอภูแล่นช้าง เป็นอำเภอยางตลาด เพื่อรักษาชื่อ “ภูแล่นช้าง” เดิมมิให้สูญหายไปตามกาลเวลา คนในท้องถิ่นเขตพื้นที่อำเภอยางตลาด จึงได้ตั้งนามสกุลของตนโดยให้มีคำว่า “ภู” ขึ้นต้น เช่น ภูจารึก ภูวิลัย ภูผาพลอย ภูขยัน ภูเด่นผา ฯลฯ ความเป็นมาของอำเภอยางตลาดและคำขึ้นต้นตามสกุล “ภู” ดังกล่าว จึงเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของอำเภอยางตลาด บ่งบอกถึงว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่อำเภอยางตลาด หรือเป็นชาวบ้านยางโดยกำเนิด” นายเอกรัตน์กล่าว
นายเอกรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า อำเภอยางตลาดมี 15 ตำบล จำนวน 208 หมู่บ้าน วัดมหานิกาย 81 แห่ง วัดสายธรรมยุต 56 แห่ง รวม 137 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17 แห่ง พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ได้รับน้ำจากคลองชลประทานลำปาว มีการประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง มีความโดดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะคำขึ้นต้นนามสกุล “ภู” ดังกล่าว โดยเมื่อปี 2567 ทางอำเภอได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ จัดงาน “รวมพลตระกูลภู” ขึ้นเป็นครั้งแรก ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพื่อเป็นการต่อยอด “รวมพลตระกูลภู” และสร้างอนุสรณ์สถานสำคัญให้กับพื้นที่ ที่จะเป็นทั้งอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ที่สำคัญของ จ.กาฬสินธุ์
ปีนี้จึงได้ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ดำเนินการสร้าง “หลักจารึกตระกูลภู” แห่งแรกในโลกและแห่งเดียวใน จ.กาฬสินธุ์ขึ้น ที่บริเวณด้านหน้าอาคารที่ว่าการอำเภอยางตลาด เพื่อเป็นการเทิดทูน รำลึก และบันทึกเป็นเกียรติภูมิ รวมทั้งเป็นการเชิดชู แสดงความกตัญญู และเป็นเกียรติประวัติให้กับบรรพบุรุษชาวอำเภอยางตลาด และเชิดชูบรรพชนคนเมืองภูแล่นช้าง ที่นำพาสร้างบ้านแปงเมืองจากอดีตจนมีความปึกแผ่นมั่นคงมาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ รูปแบบ “หลักจารึกตระกูลภู” ออกแบบโดยกองช่างเทศบาลตำบลยางตลาด งบประมาณการก่อสร้าง 600,000 บาท สร้างด้วยหินแกรนิตสีโทนดำ 6 เหลี่ยม ฐานล่างกว้าง 6 เมตร หน้าฐานคล้ายเกล็ดกระดองเต่า สื่อถึงความสำเร็จยั่งยืนยาวนาน เหมือนเต่าที่อายุยืน ให้คนยางตลาดตระกูลภู มีความสำเร็จที่ยั่งยืนยาวนานเช่นกัน สูงประมาณ 3.84 เมตร ฐานบนกว้าง 4.58 เมตร ด้านบนติดตั้งรูปปั้นช้าง ที่หมายถึงความมั่นคงและความเป็นสิริมงคล ด้านข้างด้านหนึ่งสลักประวัติอำเภอ ด้านข้างที่ 2 สลักรายนามผู้ร่วมบริจาค และอีก 4 ด้านสลักนามสกุล “ภู” สีทอง ซึ่งรวบรวมไว้เบื้องต้นจำนวน 1,314 สกุลด้วยกัน

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง หลังดำเนินการเรียบร้อย ทางอำเภอก็จะได้ร่วมกับคณะสงฆ์ทั้ง 137 วัด ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชนทั้ง 15 ตำบล 208 หมู่บ้านจัดพิธีฉลองหลักจารึก “ตระกูลภู” อย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 21-22 มกราคม 2569 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 118 ปีก่อตั้งอำเภอยางตลาด ต่อเนื่องด้วยจัดงานมหกรรมบุญคูนลานวันที่ 23-25 มกราคม 2569 รวม 5 วัน 5 คืน
ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว เตรียมตัวเตรียมใจไว้แต่เนิ่นๆมาร่วมงาน พร้อมบวชชีพราหมณ์ ปฏิบัติธรรม รำลึกและแสดงความกตัญญูบรรพชนคนตระกูลภูร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในโอกาสต้อนรับปีใหม่ ฉลองหลักจารึกตระกูลภูแห่งเดียวในโลก และสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งเดียวของ จ.กาฬสินธุ์ดังกล่าว