
นครพนม-พายุ “วิภา”อ่อนกำลังแล้ว พลังศรัทธาพญานาคล้น บวงสรวงท่ามกลางเมฆดำ ประตูระบายน้ำทุกแห่ง รองรับน้ำได้อีกกว่า 70 %

พายุโซนร้อนกำลังแรง”วิภา” ที่ก่อตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีความเร็วลมประมาณ 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมงคาดว่าพายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ หลังจากนั้นก็จะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบน รวมทั้งภาคเหนือของไทยต่อไป
ซึ่งจากอิทธิพลของพายุวิภา จะส่งผลให้ในช่วงระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 68 บริเวณภาคอีสานตอนบน จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรฯ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และชัยภูมิ ทั้งนี้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกที่สะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม เป็นต้น


ในส่วนของพื้นที่ จ.นครพนม แม้จะโดนแค่หางๆของพายุวิภา โดยมีฝนตกลงมาตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น.ของวันที่ 19 กรกฎาคมเรื่อยมา และตกหนักในช่วงเวลา 02.00 น.วันที่ 20 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองนครพนม ได้เดินเครื่องสูบน้ำทั้งระบบไฟฟ้าและดีเซล พร้อมเปิดประตูระบายน้ำลงแม่น้ำโขง เพื่อป้องกันน้ำรอระบาย ไหลทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชน จนถึงรุ่งเช้าฝนจึงหยุดตก เบื้องต้นยังไม่มีประชาชนแจ้งขอความช่วยเหลือ ในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ทั้งนี้ในพื้นที่ อ.เมืองนครพนม ถือมีปริมาณฝนตกมากที่สุดของภาคอีสาน โดยวัดได้ 99.1 มิลลิเมตร ส่วนระดับน้ำโขงวัดได้ 8.56 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 11 เซนติเมตร ห่างจากตลิ่งซึ่งเป็นระดับวิกฤต 12 เมตรประมาณ 3 เมตรเศษ


ถึงแม้พายุวิภาจะตกกระหน่ำตลอดทั้งคืน แต่ไม่สามารถขวางกั้นแรงศรัทธาของสายมูได้ บริเวณริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ณ ลานพนมนาคา และลานพญานาค องค์พญาศรีสัตตนาคราช ประชาชนที่มีความศรัทธาต่อองค์พญานาค ได้ตั้งโต๊ะบวงสรวง มีพราหมณ์ประกอบพิธีไม่น้อยกว่า 3 จุด รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากราบไหว้ขอพรท่ามกลางสายฝน แม้แต่เรือสำราญล่องโขงชมวิวสองฝั่งไทยลาว ก็มีนักท่องเที่ยวเข้าคิวเช่าเหมากัน


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีจังหวัดนครพนม ประกาศให้พื้นที่ใน 7 อำเภอเป็นเขตประสบสาธารณภัยกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ภายหลังเกิดสถานการณ์น้ำหลาก และน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของประชาชนในหลายพื้นที่ ประกอบด้วยอำเภอนาหว้า นาแก วังยาง โพนสวรรค์ ศรีสงคราม เรณูนคร และอำเภอปลาปาก มีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 2,648 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายเกือบ 17,000 ไร่ รวมทั้งบ่อเลี้ยงปลา กบ ได้รับความเสียหาย 150 บ่อ


โดยการประกาศให้ 7 อำเภอเป็นเขตประสบสาธารณภัยฯดังกล่าว อาจทำให้ประชาชนหวั่นวิตกว่าจะมีน้ำท่วมใหญ่ ประกอบกับมีสื่อบางสำนักประโคมข่าวจนทำให้ตื่นตระหนก ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงานเกษตรฯลงตรวจพื้นที่ไร่นาของประชาชน ว่า ได้รับความเสียหายจริงๆจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้ส่งเรื่องให้สามารถรับเงินช่วยเหลือตามกฎหมายกำหนด โดยไม่มีตกหล่นแม้รายเดียว หากประกาศช้าไปเกษตรกรอาจจะไม่ได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือ ส่วนที่หวั่นจะเกิดน้ำท่วมใหญ่นั้น ณ เวลานี้ยังไม่มีสัญญาณใด บ่งบอกจะมีน้ำท่วม ประตูระบายน้ำทุกแห่ง ยังสามารถรองรับมวลน้ำได้ไม่น้อยกว่า 70 %