
จังหวัดนครพนม ร่วมประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า(ชั่วคราว)ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2/2568 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำ

วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ(ศปก.) ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม/ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม มอบหมายให้นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า(ชั่วคราว)ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2/2568
เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงฤดูฝน ติดตามประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการมวลน้ำในช่วงฤดูฝน ประจำปี 2568 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากห้องประชุมจอมมณี ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดหนองคาย โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม


ที่ประชุมรับทราบ สถานการณ์และเส้นทางพายุโซนร้อนกำลังแรง “วิภา(WIPHA)” การรายงานสภาพอากาศ สถานการณ์ฝนและการคาดการณ์ ภาพรวมสถานน้ำและการคาดการณ์ ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2568 และความก้าวหน้ามาตรการรองรับมือฤดูฝน ปี 2568 ภาพรวมการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัย ในห้วงฤดูฝนปี 2568 การดำเนินการและปัญหาอุปสรรคของจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรน้ำ
จังหวัดนครพนม เตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ สำรวจกลุ่มเปราะบาง สถานพักพิง การดูแลบ้านเรือนของผู้อพยพ การแจ้งเตือนประชาชนยกของขึ้นที่สูง เตรียมความพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักรกล การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ตรวจสอบความมั่นคงของสถานที่กักเก็บน้ำ ในพื้นที่เขตเมืองและเขตเศรษฐกิจ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรอบเขตเทศบาล จำนวน 6 จุด จัดเตรียมกระสอบทราบให้เพียงพอ ให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบทุกระยะ


สถานการณ์และเส้นทางพายุโซนร้อนกำลังแรง “วิภา(WIPHA)” วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 มีศูนย์กลางอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ใกล้ชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก (พายุนี้เคลื่อนตัวเร็ว) คาดว่าจะเคลื่อนตัวตามแนวชายฝั่งประเทศจีน เข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยและขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนาม เวียดนามตอนบนและจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณ สปป.ลาว ตามลำดับ แม้พายุนี้จะกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้วก็ตาม แต่จะส่งผลกระทบทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ต้องระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในพื้นที่ดังกล่าว
โดยเฉพาะช่วง 20 – 24 กรกฎาคม 2568 ต้องเตรียมการรับมือและเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องอพยพ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.น่าน พะเยา เชียงราย รวมทั้งจะทำให้มรสุมมีกำลังแรงตั้งแต่ 20-24 กรกฎาคม 2568 ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระวัง คลื่นลมแรง เรือเล็กงดออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด ให้ต้องติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด