เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ จ้างรถมาอัดฟางข้าวเป็นก้อนเพื่อเก็บไว้เป็นเสบียงให้สัตว์เลี้ยงกินในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการซื้อหญ้าและอาหารเสริมในหน้าแล้ง เป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรับจ้างก้อนละ 15-20 บาท ขณะที่ฝ่ายปกครองรณรงค์ชาวนาไถกลบตอซัง ใช้น้ำหมักอินทรีย์ย่อยสลาย เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและลดมลพิษฝุ่นละออง pm 2.5
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2532 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ในกลุ่มที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีเสร็จ และกำลังจะเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งอื่นๆ พบว่าเริ่มมีการจ้างรถอัดฟางก้อน เพื่อเก็บไว้เป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยงกินในฤดูแล้งกันแล้ว
นายทองจันทร์ ทาศรีภู อายุ 39 ปี บ้านเลขที่ 168 หมู่ 3 บ้านดงครั่งใหญ่ ต.ดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ผู้ประกอบการรถรับจ้างอัดฟางก้อน กล่าวว่า ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวถือเป็นโอกาสทำเงินของผู้ รับจ้าวงอัดฟางข้าว เนื่องจากชาวนาและผู้เลี้ยงวัว ควาย หรือแพะ จะเก็บฟางข้าวไว้ให้สัตว์เลี้ยงไว้กินในฤดูแล้ง เพื่อลดต้นทุนการซื้อหญ้าและอาหารเสริม แต่เดิมจะใช้แรงงานคนในการขนย้ายฟางข้าวไปเก็บไว้ พอยุคสมัยเปลี่ยน ไปมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จึงทำให้การอัดฟางก้อนและจัดเก็บง่ายขึ้น ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะสะดวกรวดเร็ว โดยตนได้เข้ามารับจ้างอัดฟางก้อในพื้นที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ได้ 3 ปีแล้ว ซึ่งคิดราคาอัดฟางก้อนละ 15 บาท หากเจ้าของนาให้ขนย้ายและจัดเก็บให้ด้วยคิดก้อนละ 20 บาท
นายทองจันทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สำหรับชาวนาที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง ไม่ต้องการเก็บฟางไว้ และไม่อยากไถกลบ ขอให้มาบอกตน ตนจะนำรถเข้าไปอัดฟางให้ จะขายหรือให้ฟรีอย่างไรก็ค่อยตกลงกัน เพราะเสียดายฟางข้าว ที่เป็นอาหารสัตว์และมีมูลค่ามากในฤดูแล้ง หากทำการเผาก็อาจจะเกิดการลุกลามไหม้อาคารสถานที่และสิ่งของได้ มาบอกให้ตนไปอัดเป็นฟางก้อนเก็บไว้ขายในฤดูแล้งดีกว่า เพราะจะมีราคาสูงถึงก้อนละ 50 บาททีเดียว
ด้านนายสัมฤทธิ์ กิตติโชติ สุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่ อ.กมลาไสยอยู่ในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว ส่วนหนึ่งติดแม่น้ำชี ชาวบ้านจึงสามารถทำการเกษตร และการประมงได้ตลอดปี ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัด เป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีชื่อเสียงคือข้าวเหลือง 11 ทั้งนี้ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
นายสัมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเตรียมตัวเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและข้าวนาปรังนั้น ได้เน้นย้ำผู้นำชุมชน หมอดินอาสา คอยกำกับดูแล และรณรงค์ชาวบ้านงดการเผาตอซังข้าวโดยเด็ดขาด โดยให้มีการไถกลบตอซัง และใช้น้ำหมักชีวภาพหรือน้ำหมักที่ทำจากจาวปลวก ซึ่งมีคุณสมบัติในการย่อยสลายตอซังได้รวดเร็วแล้ว ยังเป็นการปรับปรุงคุณภาพดิน และลดปัญหาการเกิดมลพิษหรือฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทุกประเทศและรัฐบาลไทยกำลังควบคุมป้องกันอีกด้วย