ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ นำทีมป่าไม้ และผู้เชี่ยวชาญ ลุยพื้นที่ เห็นสภาพป่าชุมชนโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ถึงกับอุทาน “ปล่อยให้ตัดได้ยังไง” ทำเอา ครู ผู้ใหญ่บ้าน หน้าซีด พบไม่เกี่ยวข้องกับอาณาบริเวณโรงเรียน เผยไม้พะยูง 5 ต้นที่ยังเหลือ บางต้นราคาสูงกว่าที่ถูกประมูลหลายเท่า ขณะที่คดีฉาวขโมยไม้ของกลาง จ่อออกหมายจับกราวรูด
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐไม่น้อยกว่า 6 คน เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จากแนวทางการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องให้การปฏิเสธ ถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าของคดี แต่กลับมีปัญหาการตัดไม้พะยูงรายวันในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการเปิดให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น ในราคา 153,000 บาท ต่ำกว่าราคาตลาด 28-56 เท่าตัว ผู้ว่าฯย้ำส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ขณะที่ผู้การตำรวจกาฬสินธุ์ เร่งติดตามนายหน้าซื้อไม้พะยูงโรงเรียนมาสอบปาก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับนายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ ลงพื้นที่ตรวจสอบหลักฐานการตัดไม้พะยูงภายในบริเวณโรงเรียนคำไฮวิทยา โดยมีนายจารุวัตร ภูแก้ว นายอำเภอหนองกุงศรี พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ วีระศิริ ผกก.สภ.หนองกุงศรี นายนิกร นามโส ผู้อำนวยการโรงเรียนคำไฮวิทยา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ สภ.หนองกุงศรี นายกเทศมนตรีตำบลคำก้าว ผู้ใหญ่บ้าน คณะครู รายงานสถานการณ์
บรรยากาศการตรวจสอบ ก้าวแรก ที่นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ มองเห็นหลักฐานการตัดไม้พะยูง ทั้งตอไม้ เศษส่วนของปลายไม้ถึงกับอึ้ง พูดขึ้นมาว่า “งึด!” ยอมใจ ตัดไม้พะยูงเหล่านี้ได้ยังไง ช่วงนี้ให้ช่วยกันรักษาทรัพยากรป่าไม้และต้นไม้ เพราะปัจจุบันเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งของผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ เพราะดูแล้วไม้พะยูงที่ถูกตัด ไม่ได้อยู่ใกล้ตัวอาคารเรียนเลย “ถามว่าใครมีส่วนร่วมในการอนุญาตให้ตัด หากบอกว่าเป็นมติของคณะกรรมการสถานศึกษา ที่ส่วนใหญ่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ขอให้พิจารณาตนเอง” เพราะหากคิดว่ากลัวคนร้ายจะมาลักลอบตัด ก็ไม่ถูกนัก สิ่งที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านควรกลัวมี 2 อย่างคือกลัวยาเสพติด และกลัวการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ต้องช่วยกันรักษา ถ้าปล่อยให้มีการตัดก็ถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่
จากนั้น ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ได้ร่วมกันตรวจวัดปริมาตรไม้และประเมินราคาไม้พะยูง ตามวิธีการหรือการประเมินราคามาตรฐานของกรมป่าไม้ พบว่าทั้งส่วนของตอไม้พะยูงจำนวน 17 ต้นที่ถูกตัดไป และที่เหลืออีก 5 ต้น 2 ตอ ที่ยังไม่ถูกตัดไป ภาพรวมจากการเปรียบเทียบราคาซื้อขายต้นต่อต้น ระหว่างราคาประมูลขายกับราคาที่ตรวจวัดได้ราคาต่างกันลิบลับ โดยพบว่า ตามราคามาตรฐานของกรมป่าไม้ คำนวณได้ราคาถึง 4,500,000 บาท ขณะที่มีหลักฐานการซื้อขายตามใบเสร็จเพียง 153,000 บาทเท่านั้น จากที่ทราบราคาจริง โดยตรวจวัดจะๆ เห็นๆ ทำเอาผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่ในเหตุการณ์หน้าซีดไปตามๆกัน
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา พื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องโดนสอบหมด เริ่มต้นจากโรงเรียน ชุมชน เขตพื้นที่การศึกษาเขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ว่าเริ่มต้นการอนุญาตตัดไม้พะยูงจากอะไร เหตุผลยังไง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าเหตุผลไม่เพียงพอ ต้องเจอคดีทุกราย แต่หากคิดว่าตนเองบริสุทธิ์ ก็ไม่ต้องกลัว ดังนั้นส่วนที่เหลือ 5 ต้น ระหว่างนี้ห้ามตัด
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ได้ลงมาดูพื้นที่ด้วยตนเอง ขอกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายป่าไม้ โรงเรียน ผู้นำชุมชน ร่วมตรวจสอบ มีจิตสำนึกรักษ์ หวงแหน ต้องร่วมกันรักษาไว้ก่อน ทั้งนี้ ตนได้มอบเป็นนโยบายในการประชุมประจำเดือนที่ผ่านมา โดยมีหนังสือแจ้งเวียนให้ทุกหน่วยงานรับไปปฏิบัติ การจะขออนุญาตตัดต้นไม้ ถ้ามีเหตุผลและความจำเป็นจริงๆก็จะดูเป็นกรณีไป ในส่วนของการตัดที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ก็จะได้มีการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป”
ผวจ.กาฬสินธุ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับกรณีไม้พะยูงหายที่เทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์นั้น มีรายงานเพิ่มเติมว่า คงถึงเวลาแล้วที่ขั้นตอนออกหมายจับผู้กระทำผิดในสัปดาห์นี้ ตามพยานหลักฐานที่มีเพียงพอ ส่วนจะเป็นใครนั้น มีในสำนวนของพนักงานสอบสวนแล้ว ไม่ถือว่าเป็นความลับ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผย ณ ตรงนี้
ด้านนายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษกาฬสินธุ์ กล่าวว่าการตรวจวัดปริมาตรไม้ในครั้งนี้ เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติของทางกรมป่าไม้ เพื่อเทียบเคียงกับปริมาตรและราคาไม้ที่มีการประเมินราคาขายที่โรงเรียนคำไฮวิทยาดังกล่าว ว่ามีความใกล้เคียงหรือแตกต่างอย่างไร ทั้งนี้ จากการตรวจวัดปริมาตรไม้และประเมินราคา พบว่ามีความแตกต่างกันมาก เช่น บางต้นประเมินขายในราคาหลักหลัก 4,000-,5000 บาท แต่จากการวัดครั้งนี้ราคาเป็น 100,000 กว่าบาททีเดียว สรุปตัวเลขรวม 22 ต้น 2 ตอ ราคาประมาณ 4,500,000 บาท ขณะที่มีการประเมินราคาขายเพียง 153,000 บาท ตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าว
รายงานแจ้งว่า ในการลงพื้นที่ตรวจสอบหลักฐานครั้งนี้ ไม่มี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นตัวการหลักในการอนุญาตตัดไม้พะยูงมาร่วมชี้แจง
ขณะที่นายนิกร นามโส ผู้อำนวยการโรงเรียนคำไฮวิทยา ให้ข้อมูลสั้นๆว่า ในวันที่มีการประเมินปริมาตรไม้พะยูงก่อนตัดขายนั้น เป็นวันที่ 4 ส.ค.66 ตนไม่ได้อยู่ในโรงเรียน เพราะติดราชการนอกพื้นที่ ทราบเพียงว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 2 คนกับครูโรงเรียน 1 คนร่วมประเมินราคา ยืนยันตนไม่มีความรู้เรื่องประเมินราคาไม้พะยูง
อย่างไรก็ตาม ในการขายไม้พะยูงที่โรงเรียนคำไฮวิทยา 22 ต้น 2 ตอ จำนวน 153,000 บาท ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าขณะตัดไม้ซึ่งเป็นเวลากลางวัน ครู และเด็กนักเรียนหลายคน ที่ได้ยินเสียงเลื่อยยนต์ เสียงต้นไม้พะยูงโค่นล้มดังครืนๆ ต่างรู้สึกสะอื้นด้วยความสะเทือนใจ และเสียดาย แต่ไม่สามารถพูดและคัดค้านได้ เพราะนายหน้าถือเอกสารอนุญาตตัดไม้พะยูง ที่อนุมัติจากธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และผอ.สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 มาแสดงและประกาศตัดอย่างเปิดเผย จึงไม่มีใครกล้าคัดค้าน
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากวงการค้าไม้ว่า ไม้พะยูงจำนวนดังกล่าว หากซื้อขายตามหมู่บ้านนั้น จำนวนไม้พะยูง 22 ต้น จะได้ราคาประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลที่ได้จากฝ่ายข่าวกรองด้านความมั่นคงว่า กรณีการขายไม้พะยูงของโรงเรียนคำไฮวิทยา นายหน้าคนที่มารับซื้อได้จ่ายเงินสดไปแล้ว 950,000 บาท ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ว่า นายหน้าคนดังกล่าวได้จ่ายเงินจริงหรือไม่ ที่จะมีการรวบรวมหลักฐานส่งต่อให้ ปปช.-สตง.-ปปท. ดำเนินการต่อไป