ประชาสัมพันธ์

จังหวัดกาฬสินธุ์ยังร้อนแล้ง ฝนตกไม่ทั่วฟ้าน้ำเขื่อนลำปาวเหลือน้อย

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังร้อนแล้ง ถึงแม้จะมีฝนหลงฤดูตกลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ทั่วถึง พืช สวน พืชไร่ เริ่มแห้งเฉาเหี่ยวตาย อาหารสัตว์เริ่มขาดแคลน ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ สั่งการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้ท้องถิ่นเร่งสำรวจความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวเหลือเพียง 24%

วันที่ 20 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศและการประกอบอาชีพของประชาชน ชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูแล้ง ที่สภาพอากาศร้อนจัด และแห้งแล้ง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน  โดยเฉพาะพืชสวนพืชไร่ เริ่มเหี่ยวเฉาและแห้งตาย อาหารสัตว์เริ่มขาดแคลน เนื่องจากถูกเปลวแดดแผดเผาและขาดน้ำหล่อเลี้ยง ทั้งนี้ มีผลสืบเนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน ถึงแม้ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีฝนหลงฤดูตกมาบ้าง แต่ก็ไม่ทั่วถึง จึงส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชสวน พืชไร่ อาหารสัตว์ ขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง

นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กาฬสินธุ์กล่าวว่า จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงฝนทั้งช่วงนี้ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้แสดงความเป็นห่วงต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ที่ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำฝนเป็นปัจจัยหลักในการหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นเรื่องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ ปภ.จ.กาฬสินธุ์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้งขึ้น โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสำรวจภัยแล้งในพื้นที่

นายธนทรกล่าวอีกว่า การสำรวจผลกระทบภัยแล้งดังกล่าว นอกจากจะสำรวจความต้องการน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อจัดหาน้ำสะอาดแจกจ่ายให้เพียงพอแล้ว ยังให้สำรวจแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำดิบบนดินเพื่อการผลิตประปา และน้ำใต้ดิน รวมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น ระยะยาว ทั้งโดยการสูบน้ำจากแหล่งที่อยู่ใกล้กันเข้ามาเติม ในบ่อใกล้ชุมชน นอกจากนี้ยังจะมีในส่วนของการล้างบ่อบาดาล เพื่อให้ระบบการสูบน้ำ แจกจ่ายน้ำมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตน้ำที่สะอาด ปลอดภัย แก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ปริมาณน้ำเขื่อนลำปาว ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคเหลือเพียง 479 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 24% จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อจะก้าวข้ามสถานการณ์ภัยแล้งนี้