ประชาสัมพันธ์

ขอนแก่น – สสส. รณรงค์เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในภาคอีสาน

สสส. ลงพื้นที่ภาคอีสาน พัฒนาศักยภาพเครือข่ายระดับภูมิภาค รณรงค์และเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนผ่านระบบ ติดเหล้ายัง.com

ที่ห้องประชุม Interactive Learning 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพเครือข่ายระดับภูมิภาคเพื่อรณรงค์และเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนผ่านระบบ ติดเหล้ายัง .com ภาคอีสาน ขึ้น เพื่อร่วมกันป้องกันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมแนะนำแอปพิเคชั่น 1B6 แบบคัดกรองพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาการอายุ 15 ปีขึ้นไป

ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าในปีพ.ศ.2564 มีการดื่มมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ จังหวัดน่าน มากถึงร้อยละ 43.3 และในขณะที่จังหวัดขอนแก่น มีอัตราการดื่มอยู่ที่อันดับ 6 คิดเป็นร้อยละ 39.9 ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์สถานที่ที่มีการดื่มมากสุดคือ ที่บ้านตนเอง/ผู้อื่น ร้อยละ 86.8 , ดื่มที่ร้านจำหน่าย ร้อยละ 66.5 และการดื่มที่งานเทศกาล/งานประเพณี ร้อยละ 59.4

ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาตินั้น จึงต้องเริ่มจากการควบคุมและจำกัดการเข้าถึง ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา รวมถึงการควบคุมโฆษณาส่งเสริมการขาย ให้ขึ้นราคาระบบภาษี สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม และสนับสนุนบริหารการจัดการที่ดี เว็ปไซต์ ติดเหล้ายัง.com จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เข้าร่วมจัดทำบันทึก และประเมินผลการติดแอลกอฮอล์ ซึ่งในกรณีที่พบว่าติดแอลกอฮอล์ จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อรักษาอาการ จากทางการแพทย์ ทั้งนี้อยู่ที่ความสมัครของประชาชนที่สนใจเลิกเหล้า

ด้านนายแพทย์พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวในการบรรยายเรื่อง แนวทางการดำเนินงานการคัดกรองและบำบัดรักษาและการสื่อสาร ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ด้วยระบบติดเหล้ายัง.com ว่า SAFER เป็นมาตรการแนะนำสำหรับการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ คือ การสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมและจำกัดการเข้าถึงทางกายภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , มีการยกระดับและการบังคับใช้มาตรการควบคุมพฤติกรรมขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่มแอลกอฮอล์ , มีการจัดให้มีการเข้าถึงระบบบริการการคัดกรอง การบำบัดแบบสั้นและการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการดื่มสุรา ,การบังคับใช้กฎหมายห้ามหรือจำกัดโดยครอบคลุมการโฆษณาการให้ทุนอุปถัมภ์และการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านระบบภาษีสรรพสามิตและมาตรการทางด้านราคาอื่นๆ

โดยแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2564-2570) ระบุ 7 กลยุทธ ในการควบคุมว่า 1.การควบคุมและจำกัดการเข้าถึง 2.ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม 3.คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา 4.ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ 5.ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี 6.สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม และ 7.ระบบสนับสนุนและบริการจัดการที่ดี ซึ่งแอพพิเคชั่น 1B6 แบบคัดกรองพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาการอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกคนสามารถคัดกรองและบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาการดื่มสุราได้ในอนาคต ซึ่งสามารถดาวน์โหลดเพื่อประเมินพฤติกรรมเสี่ยงได้ทั้งในระบบไอโอเอส และแอนดรอยด์ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกัน เพื่อลดปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้” นพ.พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ กล่าว

ด้าน พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนภาคอีสาน กล่าวเสริมว่า ในการรณรงค์เรื่องการลด ละ เลิก และรู้เท่าทันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สื่อมวลชนถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงและสร้างการเข้าถึงส่งต่อข่าวสารเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงรายงานสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ อย่างเรื่องเว็บไซต์ ติดเหล้ายัง .com และแอพพลิเคชั้น 1B6 นี้ก็เช่นกันที่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องบอกต่อ เพื่อให้สังคมช่วยกันระแวดระวังและสำรวจพฤติกรรมการดื่มของคนรอบตัวได้ จึงอยากเชิญชวนทุกคนเข้าถึงและลองใช้ดู ซึ่งนี้จะเป็นการสร้างการู้เท่าทันเรื่องแอลกอฮอล์ให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมได้อย่างแน่นอนถ้าทุกคนช่วยกัน จากนั้นในการอบรมยังมีการเรียนรู้พื้นฐานการผลิตสื่อออนไลน์เพื่อการสื่อสารและรณรงค์และฝึกปฏิบัติโดย ดร.ดนัย หวังบุญชัย เพิ่มเติมด้วยเพื่อสร้างการรู้เท่าทันสื่อและให้เครือข่ายนำเครื่องมือไปใช้กับการทำงานรณรงค์ในพื้นที่ต่อไป.