ประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอบคุณรัฐบาลจัดงบเดินหน้าโครงการโคกหนองนาเต็มพื้นที่

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ชี้แจงแนวทางขับเคลื่อนโคก หนอง นา โมเดล หลังรัฐบาลไฟเขียวให้จังหวัดกาฬสินธุ์ขับเคลื่อนโครงการ สรุปเฟส 1 ทั้ง 18 อำเภอ ร่วมโครงการ 2,446 ครัวเรือน ขณะที่ชาวบ้านดีใจและฝากขอบคุณรัฐบาล อนุมัติงบประมาณ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาว่างงาน และรองรับแรงงานคืนถิ่นหลังได้รับผลกระทบโควิด-19

วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมชี้แจงและสร้างการรับรู้แนวทางขับเคลื่อนโครงการโคก หนอง นา โมเดล โดยมีนายชัชชัย กลีบมะลิ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายนรินทร์ เกล้าจะโป๊ะ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายมีชัย นาใจดีหัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางพรหมภัสสร ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ พร้อมด้วยพัฒนาการทั้ง 18 อำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ให้พออยู่ พอกิน ซึ่งโครงการโคก หนอง นา โมเดล เป็นอีกแนวทางในการขับเคลื่อน เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การดำรงชีวิตแบบพออยู่ พอกิน มีการช่วยเหลือ เกิดเครือข่ายสานสายใยความรู้ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา โมเดล จะใช้หลักการบริหารพื้นที่ น้ำ ฟ้า ป่า อากาศ ซึ่งจะนำไปสู่ความกินดี อยู่ดี มีรายได้เลี้ยงตัวเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายอุทัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเปิดรับสมัครร่วมโครงการนั้น ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทั้งนี้ หลังจากผ่านขั้นตอนเกษตรกรหรือประชาชนยื่นเอกสารการสมัครเสร็จสิ้น  เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็จะลงพื้นที่ เพื่อดูความพร้อมของสภาพพื้นที่ ก่อนที่จะสรุปกลุ่มเป้าหมายในเฟสที่ 1 พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ มีขนาด 1 ไร่ และ 3 ไร่ ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ มีขนาด 15 ไร่ และมากกว่า 15 ไร่ ภาพรวมทั้ง 18 อำเภอ 135 ตำบล 1,320 หมู่บ้าน เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,446 ครัวเรือน

นายอุทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงขณะนี้เป็นที่น่ายินดีกับพี่น้องชาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังจะได้รับการอนุมัติงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการโคก หนอง นา โมเดล ในเฟสแรกนี้ โดยทั่วประเทศมี 2 จังหวัดเท่านั้น คือ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.อุบลราชธานี ที่รัฐบาลจะได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการ อย่างไรก็ตาม  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว จึงได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางให้กับพัฒนาการอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ แนวทางดำเนินงาน การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของจ้างงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งนิสิตจบใหม่ และผู้ว่างงาน จะได้มีงานทำ และรายได้จากโครงการโคก หนอง นา โมเดลดังกล่าว

ด้านนางจิตตานันท์ สุริยะพงษ์ธร อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 28  บ้านโคกแง้ หมู่ 5  ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าตนมีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ซึ่งเป็นที่สูง ดินไม่ค่อยมีคุณภาพ อยู่นอกเขตชลประทาน ที่ผ่านมาทำนา ปลูกไม้ผลและพืชล้มลุก ซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาขาดแคลน น้ำ ในภาวะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะฤดูแล้ง จึงได้ขุดบ่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้สำหรับรดพืชผลและเลี้ยงสัตว์  นอกจากนี้ ยังตั้งเป้ายกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนและเกษตรผสมผสาน เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน จึงสมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา โมเดล

นางจิตตานันท์กล่าวอีกว่า รู้สึกดีใจมาก ที่ทราบว่ารัฐบาลจะได้อนุมัติงบประมาณมาขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวในเร็วๆนี้ ตนและเพื่อนเกษตรกรก็มีความหวังว่าจะลืมตาอ้าปากได้ จากโครงการเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล และสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ที่ใส่ใจปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ด้วยการจัดโครงการดังกล่าวลงมาพื้นที่ โดยเน้นยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าโครวงการดังกล่าว จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของการยกระดับคุณภาพชีวิต  มีการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่จะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน