ข่าวสังคม

ผนึกกำลังเดินหน้าก่อสร้างสนามบิน “สารสินธุ์ “

คณะกรรมาธิการการคมนาคมสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับส่วนราชการ ภาคการเมือง ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชน จัดโครงการสัมมนาสร้างท่าอากาศยานเชื่อม 2 จังหวัด โดยเล็งใช้พื้นที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เขตรอยต่อจังหวัดมหาสารคาม เป็นสถานที่ก่อสร้างสนามบิน “สารสินธุ์” ระบุอีก 2 เดือนเดินหน้าศึกษาวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่หอประชุมโรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายโสภณ ซารัมย์  ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคมสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานเวทีสัมมนาการก่อสร้างท่าอากาศยานสารสินธุ์ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวต้อนรับ ทั้งนี้ มีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ รศ.ดร.ประยูร วงศ์จันทรา ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ประธานหอการค้า จ.กาฬสินธุ์ และนายสมเกียรติ มณีสถิต รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน เป็นวิทยากร ร่วมเวทีเสวนา โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย ส.ส.กาฬสินธุ์ ส.ส.มหาสารคาม ส่วนราชการ ภาคประชาคม ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์มีอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจเติบโตเป็นที่น่าพอใจจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง 4 จังหวัดคือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีเขื่อนลำปาวและแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมหลายแห่ง  เมื่อพิจารณาถึงระบบคมนาคมขนส่ง พบว่า จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกัน ยังไม่มีท่าอากาศยานภายในจังหวัด ทำให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ ที่จะเดินทางต้องไปใช้บริการท่าอากาศยานขอนแก่นและร้อยเอ็ด ส่งผลให้การคมนาคมไม่สะดวก ที่ผ่านมาจึงไม่สามารถพัฒนาจังหวัดได้เต็มศักยภาพ ซึ่งในอนาคตหากมีสนามบินเชื่อม 2 จังหวัดถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก

ด้านนางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ มีพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และสัตว์เศรษฐกิจอย่างกุ้งก้ามกราม และปลากระชัง ซึ่งอาศัยน้ำจากระบบชลประทานลำปาว ที่เสมือนเป็นเส้นโลหิตหล่อเลี้ยง และเป็นอาชีพหลักของพี่น้องประชาชน เป็นสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ตลอดปี  นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ รอรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวสู่ชุมชน แต่ระบบการคมนาคมขนส่งมีเฉพาะทางรถยนต์เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต้องความต้องการของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ จึงได้ร่วมกับหลายภาคส่วน ในการผลักดันโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานหรือสนามบินขึ้นในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์เชื่อมกันกับจ.มหาสารคาม ซึ่งพื้นที่มีความพร้อมและทุกภาคาส่วนให้การตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากจะมีการพัฒนาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์และจ.มหาสารคามไปในทางที่ดีขึ้น

ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการผลักดันโครงการสร้างท่าอากาศยานในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์และเป็นจุดเชื่อมต่อ จ.มหาสารคามดังกล่าว  สิ่งที่เห็นพ้องต้องกันคือกาฬสินธุ์ต้องดีกว่านี้ ดังนั้นทุกฝ่ายทั้งภาคการเมือง ส่วนราชการ ภาคประชาคม ชุมชน ต้องมีความสามัคคี เพื่อให้ระบบสาธารณูปโภคทุกด้านดีขึ้น ทุกคนต้องมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการพัฒนาและร่วมกันกำหนดทิศทาง ทั้งนี้ นับจากนี้ประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้า ในการเดินหน้าโครงการก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างอากาศยาน ซึ่งเป้าหมายกลุ่มที่จะมาใช้บริการที่ท่าอากาศยานคือชาว จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม จึงจะใช้ชื่อท่าอากาศยานแห่งนี้ว่า ท่าอากาศยานสารสินธุ์ โดยได้รับงบจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประมาณ 5,700,000 บาท ในการทำโครงการวิจัยดังกล่าว

ขณะที่นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคมสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่จัดสัมมนากรณีที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม อยากมีสนามบิน อยากมีท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นความต้องการของภาคราชการ และประชาชน รวมทั้ง ส.ส.ทั้ง 2 จังหวัดที่ร่วมกันแสดงพลังและแสดงความสามัคคีที่จะร่วมกันผลักดันการสร้างท่าอากาศยาน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารอบด้าน และหากมีการสร้างจริงได้มีมติร่วมกันตั้งชื่อว่า “สนามบินสารสินธุ์” ซึ่งเป็นชื่อของทั้ง 2 จังหวัด และเป็นสนามบินของพี่น้องประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ และจ.มหาสารคาม ถือเป็นมิติใหม่ที่ดี ทั้งนี้จากการลงพื้นที่พบว่าทั้ง 2 จังหวัดนี้มีศักยภาพควรที่จะสนับสนุน และทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนก็พร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดสนามบินดังกล่าวขึ้น ซึ่งคณะกรรมาธิการคมนาคมสภาผู้แทนราษฎร ก็จะนำข้อมูลเรื่องนี้เสนอไปยังฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาต่อไป