ข่าวสังคม

ม.กาฬสินธุ์หนุนปลูกผักไฮไดรโปรนิกส์สร้างรายได้ช่วงวิกฤติโควิด

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ผุดโครงการ “การเพิ่มรายได้เกษตรกรฐานรากกลุ่มผู้ผลิตพืชไร่อุตสาหกรรม”หนุนปลูกผักไฮไดรโปรนิกส์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับรายได้เกษตรกรรองรับวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักไฮไดรโปรนิกส์บ้านนาจำปา ตำบลนาจำปา อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ผศ.ดร.สายัญ พันธุ์สมบูรณ์ หัวหน้าโครงการ “การเพิ่มรายได้เกษตรกรฐานรากกลุ่มผู้ผลิตพืชไร่อุตสาหกรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์”และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) พร้อมด้วย ดร.พีระเพชร ศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ในพื้นที่ร่วมพบปะพูดคุย สร้างความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภายใต้โครงการหลัก “การสร้างอาชีพทางเลือกบนทรัพยากรฐานราก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับรายได้เกษตรกรรองรับวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ (กาฬสินธุ์โมเดล)

โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทั้งนี้มีการจัดกิจกรรมการตรวจธาตุอาหารพืชในดินก่อนปลูกพืช เป็นการใช้เทคนิคทางเคมีที่สะดวกและรวดเร็วในการตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช กระบวกการจัดการความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดิน และ ค่าวิเคราะห์ดินนี้ เป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมมาบูรณาการกระตุ้นให้เกษตรกรพึ่งตนเอง เพิ่มเติมหลักวิชาการเพื่อช่วยให้การใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเพิ่มผลผลิตพืชปลูกของเกษตรกร และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้จริงทำให้เกษตรกรเกิดการยอมรับจากผลที่เกิดขึ้นในแปลงของตัวเอง

ทั้งนี้เกษตรกรต้องมีความเข้าใจใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การตรวจสอบข้อมูลชุดดิน การเก็บตัวอย่างดิน และการตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน และ การใช้คำแนะนำปุ๋ยโดยใช้คู่มือหรือโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งทุกขั้นตอนเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองและถ่ายทอดสู่เกษตรกรในชุมชนได้ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล หัวโครงการ“การสร้างอาชีพทางเลือกบนทรัพยากรฐานรากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับรายได้เกษตรกรรองรับวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ (กาฬสินธุ์โมเดล) กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืช ข้าว และมันสำปะหลังเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนได้เทคโนโลยีการผลิตต่าง ๆ ที่เหมาะสม เกษตรกรนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้และขยายผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

โดยความร่วมมือของภาคเอกชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร ก่อให้เกิดความยั้งยืนในภาคการผลิต ตั้งแต่ระดับเกษตรกรจนถึงภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม นอกจากจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ เกิดความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างเกษตรกร และภาคเอกชนโดยมีภาครัฐเป็นผู้เชื่อมโยง และสนับสนุนความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็น ซึ่งเป้าหมายหลักในการดำเนินโครงการครั้งนี้ โครงการกาฬสินธุ์โมเดล (Kalasin Model) เป็นโครงการที่พาเกษตรกรลงมือทำโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มอย่างน้อย 10,000 บาท /เดือน ” โดยไม่รอ ไม่ขอ ลุกขึ้นมาทำเอง” เพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรอย่างยั่งยืน