ข่าวสังคม

จังหวัดกาฬสินธุ์ ปิดโรงเรียนไม่มีกำหนด ร้านอาหารเปิดไม่เกิน 5 ทุ่มงดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กาฬสินธุ์ยกระดับคุมเข้มมาตรการโควิด-19 หลังปรับเป็นพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปิดโรงเรียน-งดเรียนออนไซด์ไม่มีกำหนด ร้านอาหารนั่งได้ไม่เกิน 5 ทุ่มงดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการรวมกลุ่มสังสรรค์ ขณะที่สถานการณ์ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อนิวไฮวันเดียว  157 ราย ทุบสถิติสูงสุด ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมพุ่ง 1,315 ราย ขณะที่หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรมทยอยส่งผู้ป่วยพาคนอีสานกลับภูมิลำเนา

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่องรายวัน โดยล่าสุดวันนี้ (21 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อนิวไฮ เป็นผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 157 ราย ทุบสถิติสูงสุด โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 40 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ระหว่างการกักกันตัว 83 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 27ราย และตรวจพบจากระบบเฝ้าระวังอื่นๆอีก 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุถึง 1,315  ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย 

ทั้งนี้จากสถานการณ์ล่าสุดคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธาน และทางจังหวัดได้ออกประกาศคำสั่งมาตรการยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังปรับเป็นพื้นที่สีแดง หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยให้ปิดการเรียนการสอนแบบ on -site รวมไปถึงศูนย์เด็กเล็ก จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนามกีฬา ยิม สถานที่ออกกำลังกายเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ จำกัดจำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะไม่เกินร้อยละ 50 และผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ 13 จังหวัดเสี่ยง ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

นอกจากนี้มติที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการขยายเตียงในโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น  จากปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์มีโรงพยาบาลสนามรวม 19 แห่ง รองรับผู้ป่วยจำนวน 1,159 เตียง และในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก และแสดงอาการ อีก 433 เตียง รวมทั้งหมด 1,592 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมากที่เดินทางกลับมารักษายังภูมิลำเนา พร้อมวางแผนจัดตั้งศูนย์โควิดชุมชนหรือ Community Isolation โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการ เน้นผู้ป่วยสีเขียวและให้มีบุคลากรจาก รพ. สต.  อสม. เข้ามาดูแล

ขณะที่หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรมกาฬสินธุ์ได้ทยอยส่งตัวผู้ป่วยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และหลายจังหวัดในภาคอีสานตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และบริเวณกักกันตัวตามภูมิลำเนา หลังจัดขบวนคาราวานตู้พยาบาล 8 คัน และเช่ารถบัสอีก 1 คันรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร และพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งจังหวัดปริมณฑล“พาคนอีสานกลับบ้านเฮา”ฟรีกว่า 100 คน