ข่าวสังคม

หมอใหญ่กาฬสินธุ์ เตือนเปิบเนื้อหมูดิบเสี่ยงป่วยโรคหูดับเสียชีวิต

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์เตือนบริโภคเนื้อหมูดิบเสี่ยงได้รับเชื้อและป่วยโรคหูดับเสียชีวิต หลังพบโรคหูดับในภาคเหนือ แต่ยังไม่พบในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แนะผู้บริโภคต้องไม่ประมาท โดยเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และในกลุ่มผู้นิยมบริโภคเนื้อสุกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยผู้บริโภคเนื้อสุกรหลายรายมีความกังวล ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดเหมือนโรคลัมปี สกิน ในโค หรือโรคเพิร์ส ในสุกรในพื้นที่หรือไม่ หลังพบมีการแพร่ระบาดของโรคหูดับ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และพบว่ามีผู้ป่วยหลายรายได้รับเชื้อ มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งทางด้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ยืนยันยังไม่พบในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเตือนบริโภคเนื้อหมูดิบเสี่ยงได้รับเชื้อและป่วยโรคหูดับเสียชีวิต และควรนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากกรณีการเกิดโรคหูดับในบางจังหวัดเขตภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ซึ่งมีทั้งผู้ได้รับเชื้อและเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากการบริโภคเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ทั้งนี้ อาจจะมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมการบริโภคเนื้อสุกรดิบ จึงเป็นความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อดังกล่าว ทั้งนี้ โรคหูดับหรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนได้ 2 ทาง คือการบริโภคเนื้อสุกร เครื่องในสุกร หรือเลือด ที่ไม่ผ่านการทำให้สุก เช่น ลาบ ลู่ ปิ้งย่างที่ไม่สุก นอกจากนี้ยังเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสโรค หรือสุกรที่เป็นโรค

นายแพทย์อภิชัย กล่าวอีกว่า เชื้อดังกล่าว ที่ปกติจะอยู่ในสุกรเกือบทุกตัว โดยฝังอยู่ในต่อมทอนซิลของสุกร แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือป่วย โรคจะไปกดภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียตัวนี้จะเพิ่มจำนวน และทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้สุกรป่วยและตายได้ เมื่อนำเนื้อสุกรที่ตายด้วยโรคดังกล่าวมาบริโภคโดยไม่ผ่านการปรุงสุก จึงทำให้เชื่อเข้าสู่ร่างกายและเจ็บป่วย ในรายที่อาการรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้

“อาการของผู้ป่วยโรคหูดับ หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายภายใน 3 วันจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม จึงทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่งหูหนวก ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยจะเสียการได้ยิน และอาจชีวิตในเวลาต่อมา”  นายแพทย์อภิชัยกล่าว

นายแพทย์อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้ไม่มีประวัติพบผู้ป่วยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ อาจจะมีผลมีจากชาว จ.กาฬสินธุ์ ไม่นิยมบริโภคเนื้อสุกรดิบ อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทและไม่เกิดความกังวลในการบริโภคเนื้อสุกร จึงขอประชาสัมพันธ์ไปถึงผู้บริโภค เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย  ก็จะไม่เสี่ยงกับการได้รับเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อพยาธิ โรคท้องร่วง และป่วยโรคหูดับเสียชีวิตดังกล่าว