ข่าวสังคม

กาฬสินธุ์เปิดห้องเจ้าเมืองโชว์ของดีขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้สู่ยูเนสโก

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกับวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดงาน Kalasin Learning City และเสวนาการจัดทำ KM เพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น ในการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ พร้อมเปิดพิพิธภัณฑ์ของดีโชว์ทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ในอนาคต

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 มกราคม 2565 ที่บริเวณพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ หลังเก่า) นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานจัดงาน Kalasin Learning City และเสวนาการจัดทำ KM เพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น ในการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) โดยมีนายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์, รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รอง ผอ.ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กรฯ, รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ รักษาการแทน ผอ.ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม, รศ.ดร.กตัญญู แก้วหานาม หัวหน้าโครงการวิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยวัฒนธรรมจ.กาฬสินธุ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจ.กาฬสินธุ์, หอการค้า จ.กาฬสินธุ์, ผู้นำชุมชน คณะกรรมการบริหารตลาดชุมชนเมืองเก่า คณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ผู้ประกอบการสินค้า ร่วมงาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการจัดงาน Kalasin Learning City และเสวนาการจัดทำ KM เพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น ในการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือในการ ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ดังกล่าว โดยผ่านระบบกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งนี้ ได้รับงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โครงการริเริ่มสำคัญ (Flagship Project) ปีงบประมาณ 2564, โดยมีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โปรแกรม 15 เมืองน่าอยู่, การกระจายศูนย์กลางความเจริญ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นายทรงพลกล่าวว่าจากนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ที่พัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ให้เป็นเมืองอุดมสุข ได้แก่เมืองน่าอยู่ เมืองน่าท่องเที่ยว เมืองน่าลงทุน และเมืองน่าศึกษา และจากผลการดำเนินโครงการ Kalasin Learning City ในปี 2564 ที่ผ่านมา ประชาชนได้รับความพึงพอใจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการวิจัยการพัฒนาต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)ดังกล่าว จะบรรลุวัตถุประสงค์และนำพาเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ให้ได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ในอนาคตอันใกล้นี้” นายทรงพลกล่าว

ด้านนายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่าจากนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ที่ชัดเจนคือพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ให้เป็นเมืองอุดมสุข เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองน่าท่องเที่ยว เมืองน่าลงทุน และเมืองน่าศึกษา ภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์การระบาดโรคระบาดโควิด -19 การปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น มีการเปลี่ยนรูปแบบเปลี่ยนไป ภายใต้โครงการวิจัยจากการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยดำเนินงานกิจกรรม สำคัญ ๆ เช่น การสร้างการรับรู้เรื่องการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ร่วมกับภาคีความร่วมมือใน จ.กาฬสินธุ์ การเชื่อมโยงกลไกโดยการออกแบบเวทีร่วมกับภาคีเครือข่ายในการสร้างหน้าที่ร่วมเพื่อพัฒนาเมือง ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่การเรียนรู้ตลาดนัดวัฒนธรรม ตลาดนัดเด็กดี ในพื้นที่ตลาดวัฒนธรรมเมืองเก่า

นายจารุวัฒน์กล่าวอีกว่า ในการขับเคลื่อนโครงการ ยังมีการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเมืองอุดมสุข ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนหลักสูตรท้องถิ่น พื้นที่เรียนรู้ท้องถิ่น และการสร้างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเรียนรู้ท้องถิ่น, การปรับปรุงหลักสูตรท้องถิ่นที่อิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์, การจัดทีมนักจัดการเรียนรู้เมือง ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เส้นทางการเรียนรู้ 9 ชุมชน ภายใต้แนวคิด 1 ชุมชน 1 นักจัดการเรียนรู้เมือง และจัดแหล่งเรียนรู้เสมือนจริง ในรูปแบบออนไลน์ ให้ทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ตามเส้นทางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกาฬสินธุ์ได้อย่างแท้จริง เช่น พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ที่ได้แสดงให้ผู้ร่วมงานเข้าชมและศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งเยี่ยมชมหอศิลป์ ห้องเมืองฟ้าแดดสงยาง ห้องเจ้าเมือง ห้องวิถีชุมชน ห้องศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น

ขณะที่ รศ ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โปรแกรม 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท.เป็นกองทุนวิจัยของประเทศในการสนับสนุนสร้างความรู้และงานวิจัย ที่ส่งเสริมขับเคลื่อนชุมชนให้มีศักยภาพในการค้นหาเอกลักษณ์ของดีของตน ทั้งระบบนิเวศน์ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม มีการต่อเติมองค์ความรู้ สร้างคุณค่า มูลค่าเพิ่ม เป็นการกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย มหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคน ไม่ใช่ทำงานอยู่แต่ในห้องเรียน ต้องลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน

อย่างไรก็ตาม ในการจัดงาน Kalasin Learning City และเสวนาการจัดทำ KM เพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น ในการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ในครั้งนี้ ยังได้มีการจัดแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลาย รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งแสดงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ จ.กาฬสินธุ์ในทุกๆด้าน ตั้งแต่ประวัติการสร้างบ้านแปงเมืองมาสู่ปัจจุบัน สื่อถึงการมีทุนทางวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีเสวนาจัดทำ KM เพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น ในการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ดังกล่าว