ข่าวสังคม ข่าวเศรษฐกิจ

กาฬสินธุ์แล้งพลิกชีวิตชาวบ้านหาปลายังชีพ

ภัยแล้งลามพื้นที่กาฬสินธุ์ กระทบความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของชาวบ้าน ต้องปรับตัวในการหาเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอด จากที่เคยเก็บดอกบัวและฝักบัวขายเป็นรายได้เสริม หลังว่างเว้นจากการทำนา หันมาใช้ภูมิปัญญาหาจับปลาเลี้ยงครอบครัวและแบ่งขายให้เพื่อนบ้าน

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ในช่วงฤดูแล้ง พบว่าในส่วนของหัวหน้าครอบครัว ที่เป็นเรี่ยวแรงหลักในการประกอบอาชีพ และหาอาหารเลี้ยงครอบครัว ได้มีการปรับตัวตามสภาพ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของสมาชิกทุกคนในครัวเรือน

นายเคน นาทองถม อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 54 หมู่ 18 บ้านโคกใหญ่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังว่างเว้นจากการทำนา ตนจะหาเก็บดอกบัวและฝักบัวที่บึงบัวบาน แหล่งน้ำสาธารณะประจำตำบลไปขายในชุมชน เป็นรายได้เสริมเลี้ยงลูกเมีย โดยดอกบัวชาวบ้านจะซื้อไปไหว้พระ หรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ฝักบัวจะนำไปแกะเอาเมล็ดรับประทานเล่นๆ และนำไปประกอบเป็นเครื่องเคียงอาหารหวานคาวได้ ซึ่งพอมีรายได้เสริมเข้าครัวเรือนวันละ 100-200 บาท เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ แต่เนื่องจากในฤดูแล้ง บัวไม่ออกดอก และไม่เกิดฝัก จึงขาดรายได้ในส่วนนี้ไป

นายเคนกล่าวอีกว่า เพื่อไม่ให้เสียโอกาสหารายได้เข้าครัวเรือน และเป็นการหาอาหารเพื่อยังชีพตามวิถีชาวบ้าน จึงพลิกวิธีการทำมาหากิน โดยได้ใช้ภูมิปัญญาจับปลา ด้วยการเอาเศษไม้มาทำเป็นกล่อง วางซุกไว้ตามพงหญ้าริมหนองน้ำเป็นจุดๆ บริเวณรอบๆบึงบัวบาน เพื่อเป็นกับดักให้ปลาเข้าไปหลบ โดยทำกล่องดักปลาไว้ 30 กล่อง ซึ่งไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ เพราะตามธรรมชาติของปลาในฤดูแล้งจะไม่ค่อยกินอาหาร และจะหาที่หลบซ่อนตัว เมื่อปลาแหวกว่ายหาที่หลบซ่อนตัวและมาพบกับกล่องไม้ที่เป็นกับดัก ปลาก็จะเข้าไปหลบในกล่องไม้อย่างง่ายดาย ซึ่งตนจะเทียวมาตรวจดูกล่องดักปลาเช้า-เย็น ส่วนใหญ่ปลาที่จะเข้ากับดักมีปลาช่อน ปลาดุก ปลาตอง และปลาไหล บางทีโชคดีได้กุ้งแม่น้ำด้วย

นายเคนกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงหน้าแล้งนี้ ได้ปลาครั้งละ 5-10 ตัว หรือ 2-3 กก. นำไปเป็นอาหารเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย บางครั้งชาวบ้านก็มาขอแบ่งซื้อ หรือเอาอาหารอย่างอื่นมาแลกตามประสาเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตตามวิถีชาวบ้าน แบบพึ่งพาและอยู่อย่างพอเพียง เพื่อความอยู่รอด และสามารถเลี้ยงดูสมาชิกในครัวเรือนให้มีอาหารกิน โดยไม่ต้องหาซื้อตามตลาดนัดที่ราคาแพงและสิ้นเปลือง