ข่าวสังคม

จังหวัดกาฬสินธุ์ พบฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเริ่มกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้ง 18 อำเภอ

พบฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ระดับสีส้มเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้ง 18 อำเภอ สาเหตุเกิดจากการจุดไฟเผาป่าและควันไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการลักลอบเผาป่า และเผาพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ ด้านจังหวัดกาฬสินธุ์ออกประกาศขอความร่วมมือและห้ามจุดไฟเผาไร่อ้อย ที่นา วัสดุทางการเกษตร วัชพืชในพื้นที่การเกษตร และขยะมูลฝอย

                เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ผอ.ทสจ.กาฬสินธุ์) พร้อมด้วยนายประดิษฐ์ สุดชาดา หัวหน้ากลุ่มงานส่วนสิ่งแวดล้อมฯ และเจ้าหน้าที่ เข้าติดตามสถานการณ์สภาพอากาศฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ที่เครื่องตรวจวัดบริเวณหน้าสำนักงาน  หลังจากวันนี้พบฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเร่งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ห้ามจุดไฟเผาไร่อ้อย ที่นา วัสดุทางการเกษตร วัชพืชในพื้นที่การเกษตร และขยะมูลฝอย

                นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก  PM2.5 ซึ่งในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จ.กาฬสินธุ์ เริ่มตรวจพบค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  และล่าสุดวันนี้จากการติดตามสถานการณ์พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานคือ เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งถือว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

โดยจากตรวจของดาวเทียมพบจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน  35 จุด ซึ่งแหล่งที่เกิดความร้อนมากสุดคือ พื้นที่การเกษตร ที่มีการเผา มีไฟป่า และมีควันไฟ และอำเภอที่พบจุดความร้อนมากสุด คืออำเภอคำม่วง ก่อนจะส่งผลประทบไปยังพื้นที่อื่น สำหรับพื้นที่ที่พบค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดคือ อ.ยางตลาด อยู่ที่ 86 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือ อ.สหัสขันธ์ 85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ อ.เมืองกาฬสินธุ์ 84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนอำเภออื่นๆที่เหลืออีก 15 อำเภอ มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 78- 84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งหมดเกินค่ามาตรฐานทั้งหมด ระดับสีส้ม และถือว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

นายยศวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามพบว่าสาเหตุหลักๆนั้นเกิดจากความร้อนหนาแน่น จากการจุดไฟเผาป่า และปัญหาไฟป่าของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ที่กำลังลุกไหม้อยู่เป็นบริเวณกว้าง และมีควันไฟจำนวนมากลอยมากับทิศทางลม รวมไปถึงการลักลอบเผาป่าในพื้นที่ด้วย และการจุดไฟเผาวัชพืชในพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะการเผาอ้อย และตอซังข้าวในไร่นา จึงทำให้พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานดังกล่าว

นายยศวัฒน์  กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหานั้น ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยนายศุภศิษย์  กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์  ได้ออกประกาศขอความร่วมมืองดเว้นการเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตร รวมทั้งลงความร่วมมือจังหวัดกาฬสินธุ์ นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  พร้อมประสานไปยังอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจห้ามเผาพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร วัชพืช  และขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

ทั้งนี้หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี ซึ่งมีโทษทั้งจำ และปรับ อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรไม่มีคุณภาพด้วย อย่างไรก็ตามฝากให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพในช่วงนี้ด้วย ซึ่งหากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง