ข่าวสังคม

ยโสธร ศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง

กรมชลประทานเปิดรับฟังความเห็นพัฒนาลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่างสร้างความมั่นคงแหล่งน้ำต้นทุนลดอุทกภัยกว่า 5 หมื่นไร่ พร้อมลงพื้นที่ติดตาม “โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด” ระดมความเห็นทุกภาคส่วนเสนอแนวคิดสู่แผนพัฒนาโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรอุปโภค-บริโภค เปิดแผน 3 โครงการพัฒนา สร้างความมั่นคงแหล่งน้ำต้นทุนกว่า 22 ล้นลูกบาศก์เมตร บรรเทาอุทกภัย 56,000 ไร่ เพิ่มรายได้สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้เกษตรกร

วันที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น.ที่ห้องบุษราคัม โรงแรม เจ.พี.เอ็มเมอรัลด์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง ในพื้นที่จังหวัดยโสธรและจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อนำเสนอสรุปผลการการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง ซึ่งมุ่งเน้นในการบรรเทาปัญหาอุทกภัย การพัฒนาลุ่มน้ำและพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการฯตลอดจนข้อวิตกกังวลในพื้นที่จากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ในนามตัวแทนกรมชลประทาน ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและตัวภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ พร้อมได้ลงพื้นที่บริเวณลำน้ำยัง สำรวจประตูระบายน้ำกุดปลาเข็ง ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และพื้นที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านดงแจ้ง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งการพัฒนาโครงการมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำควบคู่กันไป โดยการพิจารณาศักยภาพโครงการการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และการเข้าถึงแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาการขาดแคลนน้ำทางด้านการเกษตร และด้านอุปโภค บริโภค

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนในพื้นที่ลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง ในจังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ดประสบปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมซ้ำซากและน้ำล้นตลิ่ง ผนังกั้นน้ำชำรุด โดยเฉพาะพื้นที่สุ่มต่ำริมลำน้ำยัง และบริเวณจุดบรรจบลำน้ำยังและแม่น้ำชี เกิดอุทกภัย จำนวน 7-15 ครั้งในรอบ 16 ปี ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายขณะที่หน้าแล้งฝนทิ้งช่วง ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุน”พื้นที่ศึกษาโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ลำน้ำยังและพื้นที่ลำน้ำชีตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด 34 อำเภอ ประกอบด้วย จังหวัดยโสธร,จังหวัดร้อยเอ็ด,จังหวัดกาฬสินธุ์,จังหวัดมุกตาหาร,จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี โดยขั้นตอนการศึกษาจะเริ่มต้นจากการจัดทำโครงการตามแผนหลักเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย ซึ่งครอบคลุม 8 กลุ่มโครงการ และได้พิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญสูงสุด 3 ลำดับแรกที่มีการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้โครงการที่ศึกษาความเหมาะสมมี 3 โครงการ ดังนี้ โครงการปรับปรุง/ขุดลอกลำน้ำยัง โดยการขุดลอกลำน้ำยัง 2 ช่วง รวมระยะทาง 46 กิโลเมตร เพื่อรักษาความจุลำน้ำไม่ให้น้อยกว่า 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรื้อถอนฝายยางบ้านใหม่ชุมพร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณริมลำน้ำยัง และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำยังเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค โครงการผันน้ำน้ำยัง ดำเนินการปรับปรุงแก้มลิงธรรมชาติ 9 แห่ง และขุดลอกลำน้ำธรรมชาติ 1 สาย คือ ห้วยกุดปลาเข็ง พร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำสาขา 1 แห่ง คือ ประตูระบายน้ำห้วยวังยาง ปรับปรุงคลองระบายน้ำ 4 สาย ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำยัง 1 แห่ง คือ ประตูระบายน้ำบ้านดงแจ้ง ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำยัง โครงการแก้มลิงลุ่มต่ำน้ำนองถนนทางหลวง 2259 ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองวังหลวงตัดถนน 2259 จำนวน 1 แห่ง พร้อมอาคารประกอบ ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บกักชะลอน้ำในช่วงเกิดอุทกภัยสำหรับเป็นน้ำต้นทุนในการเพาะปลูกในพื้นที่แก้มลิง และยังสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ด้านท้ายน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ และยังช่วยทดระดับน้ำในคลองวังหลวงให้สูงขึ้นทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงน้ำต้นทุนได้สะดวกขึ้น

นายวิทยา กล่าวอีกว่า หากดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 3 โครงการนี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในภาพรวมและช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร และอุปโภค- บริโภค ด้วยความมั่นคงด้านแหล่งน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 22 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในอนาคตจะสามารถพัฒนาพื้นที่รับประโยชน์ใหม่ได้เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มรายได้และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการ โดยใช้งบประมาณลงทุน 1,825 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) เมื่อโครงการดังกล่าวพัฒนาตามแผนจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม ประมาณ 56,000 ไร่ คิดเป็นภาพรวมผลประโยชน์เฉลี่ยปีละประมาณ 70 ล้านบาท เพิ่มความมั่นคงด้านแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่เกษตรกรรมเดิมประมาณ 11,800 ไร่ และสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 15,000 ไร่ คิดเป็นผลประโยชน์เฉลี่ยปีละประมาณ 150 ล้านบาท บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ให้กับระบบ ประปาหมู่บ้าน 9 แห่ง รวม 25 หมู่บ้าน 2,273 ครัวเรือน โดยช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำประมาณ 0.1 ล้าน ลบ.ม/ปี คิดเป็นผลประโยชน์ เฉลี่ยปีละประมาณ 1.3 ล้านบาท