ข่าวสังคม

กาฬสินธุ์ เชิดชูเกียรติ อสม.จัดรถโมบายเอกซเรย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จัดกิจกรรมเนื่องในวัน อสม.แห่งชาติเชิดชูเกียรติเพิ่มทักษะความรู้ส่งเสริมสุขภาพในการป้องกันในหน่วยงานสาธารณสุขทั้งระบบพร้อมจัดรถโมบายเอกซเรย์เคลื่อนให้บริการด้านการแพทย์ในชุมชน

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ที่อาคารหอประชุมธรรมาภิบาล เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานเนื่องในวัน อสม.แห่งชาติ โดยมีนายแพทย์รณภูมิ สุรันนา ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว นางฐิตินันท์ พันธ์โภคา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ นางสาวพุตธิชา ไชยหอม ประธาน อสม.ตำบลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ บุคลากรทางด้านสาธารณสุข สมาชิก อสม.ในชุมชนของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ทั้ง 41 ชุมชน

นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมวัน อสม.แห่งชาติ ประจำปี 2566 เพื่อเชิดชูเกียรติอสม. อบรมเพิ่มความรู้ทักษะการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค สร้างความรักความสามัคคีในหมู่ อสม.และเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ประกาศที่สำคัญทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้ร่วมแรงร่วมใจกับพี่น้อง อสม.มาโดยตลอดรับรู้ถึงการเสียสละอุทิศกายและใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ปีที่ผ่านมาเราได้ร่วมกันเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด พี่น้องอสม.เป็นแกนหลักในเบื้องต้นที่เข้มแข็งในการเฝ้าระวังติดตามส่อดส่องดูแลบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ชุมชนคัดกรองติดตามวัดอุณหภูมิ รายงานข้อมูลต่างๆให้กับเจ้าหน้าที่ตลอดจนดูแลในด้านอาหารเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยจนทำให้หลายท่านติดเชื้อโควิดด้วย สื่อต่างประเทศได้ยกย่องศักยภาพของ อสม.ในการควบคุมโรคโควิดและการส่งเสริมสุขภาพเบื้องต้นให้กับประชาชน พร้อมกันนี้ขอแสดงความยินดีกับท่านที่จะได้รับค่าป่วยการเพิ่มขึ้นจาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาทในปีงบประมาณ 2567 ด้วย

ทั้งนี้ นายแพทย์สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้จัดส่งรถโมบายเอกซเรย์เคลื่อนที่ ที่สามารถเอกซเรย์ทำการรักษาโรคที่บริเวณทรวงอกในเบื้องต้น มีเครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยได้จำนวนมาก รวมทั้งคัดกรองวินิจฉัยในส่วนของวัณโรคที่ดื้อยา เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วประหยัดเวลาในการรักษา ลดต้นทุนทางด้านวัสดุที่ใช้รักษาอย่างสิ้นเปลือง โดยมีโปรแกรมที่ติดตั้งในรถไอโมบายสามารถเก็บและส่งข้อมูลเป็นภาพในระบบ Digital แทนการใช้ฟิมล์แบบดั้งเดิม ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาให้บริการทางการแพทย์อย่างรวดเร็วกับประชาชนเข้าถึงชุมชนได้ทุกแห่ง