ข่าวสังคม

ยโสธร ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส

จังหวัดยโสธรรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส 4 หน่วย 4 ภาค ทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565

ที่หอประชุมอำเภอเมืองยโสธร นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส 4 หน่วย 4 ภาค ทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 จังหวัดยโสธรได้กำหนดให้อำเภอเมืองยโสธร เป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการต่อเนื่องของโครงการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส 4 หน่วย 4 ภาคทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 โดยในวันนี้ 28 มีนาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุข อสม. สตรีกลุ่มเสี่ยง จำนวน 400 คน ได้รับการสนับสนุนแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลยโสธร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชนและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองยโสธร และที่สำคัญได้รับการสนับสนุน ความร่วมมือจากคณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิกาญจนบารมี ที่ได้นำรถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ มาตรวจให้บริการฟรี

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าในปี 2020 พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลก 2.3 ล้านคน/ปี เสียชีวิต 685,000 คน/ปี และเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังมีชีวิตอยู่ถึง 7.8 ล้านคน ในประเทศไทยมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีเช่นกัน โดยพบผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่22,158 คน/ปี และเสียชีวิต 2,266 คน/ปี หรือทุก 1 ชั่วโมง จะพบว่าสตรีไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม 1 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ในระยะหลังๆ ซึ่งจะมีการลุกลามและแพร่กระจายไปมากแล้ว การป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือ การตรวจเพื่อค้นหาให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งการตรวจมี 2 วิธี คือ 1) การตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ 2) การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม แม้การตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดแต่การให้บริการยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมะเร็งเต้านมสามารถค้นหาความผิดปกติได้ เพราะการตรวจเต้านมได้ด้วยตนเองนั้นจะสามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว จะลดความรุนแรงของการเป็นมะเร็งเต้านม และสามารถรักษาหายขาดได้ถึงร้อยละ 80-90