วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมไทญ้อ 3 โรงเรียนอุเทนพัฒนา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)จังหวัดนครพนม ได้จัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น ร่าง พรบ.สุราเสรี สร้างปัญหาหรือเพิ่มโอกาส ใครได้ ใครเสีย เพื่อให้ส่วนราชการ องค์กรเอกชน ภาคีเครือข่ายและภาคประชาชน จำนวน 60 คน ได้ร่วมกันเสวนาในประเด็น ใครหรือหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่าง พรบ.สุราเสรีเหมาะสมกับสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะนี้หรือไม่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรมีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะหรือไม่ หากมี พรบ.สุราเสรี สถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคืออะไรบ้าง การคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่มีอะไรบ้าง รวมถึงแนวทางการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากมี พรบ.สุราก้าวหน้าสู่สุราเสรี เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงคณะกรรมการด้านต่าง ๆ




ซึ่งในภาพรวมสถิติการดื่มสุราของประชาชนจังหวัดนครพนมพบว่าลดลง ทำให้ลำดับจากเดิมเป็น 1 ใน 10 ของประเทศ มาอยู่ในลำดับที่ 14 และแม้นว่าจะมีสถิติลดลง แต่ก็มีข้อกังวลคืบการพบนักดื่มหน้าใหม่เป็นผู้หญิงมากขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากการดื่มสุราแล้วเกิดอุบัติเหตุพบว่ายังคงทรงตัว โดยจากข้อมูลช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือช่วงเวลา 17.00 น. และในห้วง 8 เดือนย้อนหลัง มีผู้บาดเจ็บ 1,750 ราย และเสียชีวิต 89 ราย ส่วนสถิติความรุนแรงในครอบครัวพบว่ามีสัดส่วนลดลงตามสถิติการดื่มสุราที่ลดลง อย่างไรก็ดีในการเสวนาครั้งนี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยเกี่ยวกับการเปิดการผลิตสุราเสรีเพื่อไม่ให้มีการผูกขาดทางการตลาด เป็นการคลายล็อกให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตสุราบริโภคเองได้ในครัวเรือนโดยไม่ผิดกฎหมาย และจำหน่ายได้ง่ายมากขึ้นโดยไม่ต้องมีกำลังการผลิตมาก เป็นการช่วยผลักดันให้ SME รายย่อยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่ก็ยังอยากให้มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานในการผลิตและการจำหน่ายที่ชัดเจนที่ไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้ทุนใหญ่ ต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน คุ้มครองผู้บริโภค ข้อห้ามข้อบังคับเกี่ยวกับการโฆษณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสื่อออนไลน์ที่ทุกวันนี้สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่าย รวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ ด้วย