
วันที่ 29 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีการปล่อยให้คดีตากใบหมดอายุความ โดยไม่สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาคดีมาดำเนินคดีได้ ซึ่งหลังคดีหมดอายุความแล้ว หนึ่งในผู้ต้องหาในคดีนี้ คือนายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอศรีสงคราม ก็กลับเข้ามารายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชา และกลับเข้ามาทำงานอย่างปกติ หลังจากที่หายตัวไปไม่สามารถติดตามตัวได้ จนคดีหมดอายุความ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น








ความคืบหน้าในคดีนี้ นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม รักษาการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานแล้วว่า นายวิษณุ เลิศสงคราม ได้กลับมาทำงานแล้ว ซึ่งในทางปฎิบัติถึงแม้จะสิ้นสุดอายุความแล้ว ตามระเบียบของทางราชการ จะต้องมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า มีการยื่นในลาต่อผู้บังคับบัญชาก่อนที่จะถูกผู้บังคับบัญชายกเลิกใบลาและสั่งให้มารายงานตัว หลังถูกออกหมายจับ แต่นายวิษณุ ไม่มารายงานตัว ซึ่งหลังจากได้ข้อเท็จจริงแล้วจะทราบว่าการกระทำของนายวิษณุ มีความผิดแค่ไหน หลังจากนั้นก็จะมีการตั้งกรรมการสอบวินัยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการสอบวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้มา ซึ่งหากมีการสอบวินัยร้ายแรง โทษสุงสุดก็ถึงขั้นไล่ออกหรือปลดออก แต่หากผิดวินัยไม่ร้ายแรงก็จะมีโทษลดหลั่นลงมา เช่น ลดขั้นเงินเดือน ว่ากล่าวตักเตือนหรือตัดเงินเดือนซึ่งทางจังหวัดจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทางผู้บังคับบัญชาก็ได้เร่งติดตามตัวนายวิษณุ มาตลอด
ด้าน พล.ต.ต.ธวัชชัย ถุงเป้า ผบก.ภจว.นครพนม เปิดเผยว่า เมื่อคดีหมดอายุความแล้วตาม ป.วิอาญาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ต่ออีก ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนช่วงที่หายตัวไปก็เป็นเรื่องของทางผู้บังคับบัญชาที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยนายวิษณุ เลิศสงคราม ภูมิลำเนา เป็นคนจังหวัดเป็นคนกาฬสินธุ์ ในขณะเกิดเหตุเป็นทหาร ยศ จ.ส.อ.ทำหน้าที่เป็นพลขับ ขับรถบรรทุกขนผู้ชุมนุมไปยังจุดที่ได้รับคำสั่ง หลังจากนั้นได้สอบเป็นปลัดอำเภอได้และได้รับการบรรจุครั้งแรกที่อำเภอท่าอุเทนใน ปี พ.ศ. 2565 หลังจากนั้นได้ย้ายไปปฎิบัติหน้าที่ที่อำเภอบ้านแพง และได้ย้าย กลับมาที่อำเภอท่าอุเทนอีกครั้งใน ปี 2567