
ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ช้ำ ราคาขายข้าวเปลือกนาปรังชะลอตัวตันละ 7,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 7 บาท เผยต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง รายได้ไม่คุ้มทุน บางรายผลผลิตตกต่ำขาดทุนซ้ำซาก รายที่ได้ผลผลิตสูงได้กำไรน้อย ไม่คุ้มทุน วอนรัฐบาลควบคุมราคาปุ๋ยเคมี ที่เป็นต้นเหตุของต้นทุนการผลิตสูง หากลานรับซื้อข้าวเปลือกให้ราคากิโลกรัมละ 8 บาท ชาวนายิ้มได้ พอมีกำไรและเหลือใช้ดอกเบี้ย ธกส.

วันที่ 30 เมษายน 2568 จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง พื้นที่ อ.ยางตลาด และอ.เมืองกาฬสินธุ์ ที่เป็นต้นน้ำและได้รับน้ำจากคลองชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว (เขื่อนลำปาว) พบว่ากำลังเร่งเก็บเกี่ยวข้าวกันอย่างคึกคัก เนื่องจากรวงข้าวได้อายุเก็บเกี่ยว และต้องเร่งเก็บเกี่ยวก่อนที่จะมีฝนตกลงมา ที่อาจจะจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน หรือทำให้รวงข้าวหัก เมล็ดร่วงหล่นเสียหาย ทำให้ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ต้องเร่งเกี่ยวข้าวตลอดวันและกลางคืน โดยคิดราคาเกี่ยวข้าวไร่ละ 600 บาท

นายประเทือง ภูนาชัย อายุ 65 ปี ชาวนาบ้านเชียงงาม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ราคาขายข้าวเปลือกนาปรังปี 67 ที่ผ่านมาค่อนข้างดี ที่ได้ราคาตันละ 7,500-8,000 บาท ขณะที่เริ่มฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้เริ่มต้นที่ตันละ 6,000-7,000 บาท เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าราคาขายข้าวเปลือกนาปรัง อยู่ในระดับนี้ตลอด ยังไม่มีหลักประกันจากรัฐบาล ในการเข้ามาช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปรังหรือข้าวฤดูแล้ง ไม่เหมือนกับข้าวนาปีที่ได้รับเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งค่ารถไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถเกี่ยวข้าว ค่าขนส่ง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่ใช้บำรุงต้นข้าวนั้น บรรจุกระสอบละ 50 กิโลกรัม ราคาสูงขึ้นกระสอบละ 1,200 บาททีเดียว

นายประเทืองกล่าวอีกว่า ต้นทุนการทำนาปีนาปรังสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีดังกล่าว ที่หากรวมทั้งหมดต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 2,000 บาททีเดียว หากผลผลิตต่อไร่ได้ไร่ละ 400 กิโลกรัม ขายข้าวเปลือกราคากิโลกรัมละ 7 บาท ได้ 2,800 บาท มีกำไร 800 บาท แต่หากผลผลิตต่ำกว่านั้น ที่ส่วนใหญ่ทำนาหว่าน ได้ผลผลิตต่ำเฉลี่ยไร่ละ 200-300 กิโลกรัม คำตอบสุดท้ายคือขาดทุนหรือไม่คุ้มทุนแน่นอน
“ปัจจัยสำคัญของการทำนาคือปุ๋ยเคมี หากรัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์ลงมาควบคุมราคา ไม่ปล่อยให้นายทุนฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยไม่มีเพดานจำกัดอย่างที่เป็นมา ชาวนาก็ขาดทุนย่ำแย่ ตนและเพื่อนชาวนาหลายราย พยายามจะลดทุนทำนา โดยใช้ปุ๋ยคอก ใช้สารปรับปรุงดิน แต่ต้นข้าวเจริญเติบโตช้า ไม่ทันการ ออกรวงไม่ดี ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงหันมาใช้วิธีการลดพื้นที่ทำนาปรัง โดยแบ่งเนื้อที่แปลงนาไปปลูกข้าวโพด ผักพาย ถั่วลิสง เพื่อเป็นอาชีพเสริมและรายได้เสริม ประหยัดต้นทุนจากการทำนาที่เสี่ยงต่อการขาดทุน” นายประเทืองกล่าว

อย่างไรก็ตาม ชาวนาส่วนใหญ่ระบุว่า หากมีการควบคุมราคาปุ๋ยเคมีลง เป็นกระสอบละ 600-700 บาทเหมือนหลายปีที่ผ่านมา และปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรัง จากตันละ 7,000 บาท อย่างน้อยตันละ 8,000-9,000 บาท ชาวนามีกำไร อยู่ได้ ทุกคนมีรอยยิ้ม และมีเงินเหลือไปใช้หนี้ ธกส. แต่ทุกวันนี้ทุนหายกำไรหด ชาวนางบางคนขายข้าวนาปรังกลับมา แทบไม่เหลือเงินไปจ่ายหนี้ค่าปุ๋ยเคมี ส่วนคนที่ได้กำไรบ้างก็แค่พอไปใช้ดอกเบี้ย ธกส. เท่านั้น เพราะเงินต้นยังไม่มีจ่ายคืน ธกส.เลย