
วันที่ 21 ก.ค.68 ดร.อนุชิต สิงห์สุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จัดกิจกรรม “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ผ้าย้อมคราม จากทุนทางวัฒนธรรมภูถ้ำพระ” เพื่อส่งเสริมแนวความคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามของชุมชน โดยมี นายประภาส พองพรหม นายกเทศมนตรีตำบลนาม่อง เป็นประธานเปิดงาน ณ เทศบาลตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร


กิจกรรม “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ผ้าย้อมคราม จากทุนทางวัฒนธรรมภูถ้ำพระ” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ : ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของเทือกเขาภูพานและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์” ประจำปี 2568 (ต่อเนื่องปีที่ 2) ซึ่งสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
โดยได้รับเกียรติจาก คุณหทัยกนก บุญทวี ผู้เชี่ยวชาญงานออกแบบผลิตภัณฑ์และงานสื่อสารการตลาด บริษัท Gen-Grow agency and Production House เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม รวมถึงการทำกิจกรรม Workshop ร่วมกับชาวบ้าน ในประเด็นการเล่าเรื่องสำคัญของชุมชน อัตลักษณ์ผ้าย้อมครามบ้านหนองสะไน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามที่สะท้อนถึงความเชื่อ ความศรัทธา และความผูกพันของชาวบ้านที่มีต่อภูถ้ำพระ ตลอดจนนำไปสู่การจัดทำแบบร่างผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลผลิตของโครงการ โดยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลนาม่อง และชาวบ้านกลุ่มผ้าย้อมครามบ้านหนองสะไน เข้าร่วม จำนวน 30 คน


“ภูถ้ำพระ” เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนชาวกะเลิงหนองสะไน และชุมชนโดยรอบ เชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของผีเจ้าถ้ำ ดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ปกป้องชุมชน และดลบันดาลให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีนั้น สถานที่แห่งนี้เป็นพุทธสถานในสมัยทวารวดี ต่อเนื่องกับสมัยเขมรพระนคร ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 17
โดยได้พบจารึกอักษรขอมโบราณระบุปีการสร้าง เมื่อปี พ.ศ.1609 ที่สำคัญคือ บริเวณภูถ้ำพระเกี่ยวข้องกับวิถีการทำผ้าย้อมครามในอดีต โดยเป็นสถานที่เพาะปลูกคราม ฝ้าย และเป็นแหล่งหินปูนที่ใช้เป็นส่วนผสมในการหมักน้ำคราม อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าในอดีตที่หนุ่ม-สาวชาวบ้านได้พิสูจน์รักแท้ด้วยการทำผ้าครามที่ภูเขาแห่งนี้