เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 10 พ.ย.65 ที่ ศูนย์เรียนรู้ 19 พอเพียงบ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 6 ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดกิจกรรม Kick Off สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 45 วัน ปลูกผักสวนครัว รณรงค์ปลูกพืชผักสมุนไพรต้านภัยโควิด 19 ซึ่งในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น มีครัวเรือนเป้าหมายในการขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารจำนวน 9,901 ครัวเรือน ขณะนี้ดำเนินการปลูกพืชผักสวนครัวไม่น้อยกว่า 10 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 99 ของครัวเรือนทั้งหมด และยังได้จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนภายในครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 43.52 ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการให้ครบทุกครัวเรือนต่อไป โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น ได้จัดทำกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ การ 45 วัน ปลูกผักสวนครัวรณรงค์ปลูกพืชผักสมุนไพรต้านภัยโควิด19 เพื่อขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในปี 2566 สู่การเป็นทุกครัวเรือนคือคลังอาหาร ทุกหมู่บ้านคือศูนย์แบ่งปัน สามารถพึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง



นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารภายใต้แนวคิด”จะพัฒนาใครเขา ต้องพัฒนาเราก่อน” สร้างกระแสรณรงค์ปลูกผักสวนครัวผ่านผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง เนื่องจากปัจจุบันรายจ่ายและรายได้ของประชาชนไม่สมดุลกัน รายจ่ายมีมากแต่แหล่งที่มาของรายได้น้อยทำให้เกิดปัญหาหนี้สินในครัวเรือนตามมา การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารนำมาใช้บริโภคในครัวเรือนหากเหลือก็แบ่งปันหรือนำไปขาย จะช่วยลดรายจ่ายเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้
“จังหวัดขอนแก่น เดินหน้าขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร เปิดปฏิบัติการ 45 วัน ปลูกผักสวนครัว รณรงค์ปลูกพืชผักสมุนไพร ต้านภัย COVID – 19 เน้นการพึ่งตนเอง ปลูกพืชผักสวนครัว ครัวเรือนไม่น้อยกว่า 10 ชนิด และทำขยะเปียกลดโลกร้อนให้หลากหลายในพื้นที่เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน โดยจัดกิจกรรม Kick Off ปลูกผัก พร้อมกันทั้ง 26 อำเภอ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 พร้อมเน้นย้ำให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง จนเป็นวัฒนธรรมการปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างยั่งยืน จำนวน 26 จุด ใน 26 อำเภอ จังหวัดขอนแก่น”

ปัจจุบันพื้นที่ภาคอีสานสามารถปลูกผักได้เพียง 20 % และผักจะมีมากในช่วงหน้าหนาว และไม่เพียงพอต่อการบริโภค ต้องนำเข้าจากพื้นที่อื่น ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานมาให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อทุ่นแรง
สำหรับการมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะ การจัดการขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ได้ลงนาม MOU ร่วมกันในการจัดการขยะเพื่อลดโลกร้อน ได้เร่งขับเคลื่อนให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทางเพื่อลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง โดยเฉพาะขยะจากเศษอาหารที่มีจำนวนมาก ให้มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนภายในครัวเรือนเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปได้จะช่วยให้ลดปริมาณขยะ ลดมลพิษและลดสภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี