เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม นพ.วิพุธ พูลเจริญ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายจิรวัฒน์ เวียงด้าน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ผศ.ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ในฐานะประธานผู้เอื้อการเรียนรู้เสริมหนุนการจัดการร่วมข่ายงานจังหวัดนครพนม ายสมชาย แสนลัง ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์ขวัญชัย ประเสริฐยิ่ง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลนครพนม นางธิสาชล ธันยาวราธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอาจสามารถ และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพในพื้นที่ ได้มีการประชุมหารือ เตรียมนำร่องใช้นวัตกรรม Innovation Sandbox ซึ่งเป็นระบบการทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมจริงโดยมีขอบเขตจำกัด เพื่อศึกษาผลกระทบและออกแบบแนวทางการกำกับดูแลบริการเสริมสุขภาพกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 100 คน ที่เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้มีภาวะเสี่ยงในพื้นที่ตำบลอาสามารถ อำเภอเมือง ภายใต้โครงการ ทดสอบระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพเขตเมือง : กรณีควบคุมโรคเบาหวานด้วยชีวิตวิถีใหม่และการแพทย์วิถีใหม่ในสถานการณ์โรคโควิด -19 ระบาดฉุกเฉินที่กำลังผันเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบการบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ โดยถือเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะมีการนำระบบนี้มาใช้ต่อจาก กทม.





โดยการทำงานของระบบ เบื้องต้นผู้ใช้บริการที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปต้องกรอกข้อมูลประวัติส่วนตัว พฤติกรรมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดปัจจัยของเบาหวาน หรือคนที่เป็นแล้วมีการดูแลตัวเองอย่างไร มีความรู้ในการดูแลตัวเองมากขนาดไหน ซึ่งเมื่อป้อนข้อมูลเข้าสู่ในระบบเรียบร้อยระบบจะทำการประมวลผลข้อมูลออกมาว่า ผู้ใช้บริการหรือผู้ประเมินอยู่ในกลุ่มไหน จากนั้นจะเข้าสู่การจัดบริการที่เป็นแผนการดูแลใน 3 ระดับต่อไป คือ ระดับบุคคลครอบครัว ระดับชุมชน และระดับหน่วยงานท้องถิ่น ที่จะเข้ามาสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหากโครงการประสบความสำเร็จจะเกิดผลประโยชน์กับประชาชนชาวจังหวัดนครพนมเป็นอย่างมาก ที่นอกจากจะทำให้มีผู้ป่วยโรคเบาหวานลดลง ประชาชนยังจะมีความรู้ในการดูแลและควบคุมพฤติกรรมความเสี่ยงของตนเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน ที่ปัจจุบันจังหวัดนครพนมมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้น ทั้งยังจะส่งผลต่อระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ที่จะสามารถเชื่อมต่อและให้บริการทางด้านสาธารณสุขได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น



