โผล่อีกตัดต้นพะยูงโรงเรียนจุดที่ 5 !!! รอบนี้ ประชาชนตำบลคำเหมือดแก้ว อำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ตรวจสอบต้นไม้พะยูงโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ซึ่งถูกขายให้กับนายหน้าจำนวน 3 ต้น อายุกว่า 50 ปี พร้อมหลักฐานใบเสร็จรับเงิน 30,000 บาท และเอกสารขั้นตอนข้อตกลงซื้อขายไม้พะยูงระหว่าง ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กาฬสินธุ์ และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ คล้ายกับปัญหาที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี และโรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก แต่รอบนี้ประเมินราคา อนุมัติประมูลขาย พร้อมใบเสร็จรับเงิน ตัดจบทั้งต้นทั้งตอไม้พะยูงในวันเดียว

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่และเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณภายในโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ หลังได้รับแจ้งจากภาคประชาชนในพื้นที่ ว่า ที่โรงเรียนแห่งนี้ก็มีการตัดไม้พะยูงเหมือนกัน ด้วยวิธีประมูลขายนำเงินเข้าแผ่นดิน จำนวน 3 ต้น ขายให้กับพ่อค้าในราคา 30,000 บาท โดยขายไปเมื่อช่วงต้นเดือน มีนาคม 2566 ซึ่งพฤติกรรมการตัดไม้พะยูงประมูลขายคล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่ โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี และโรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ โดยระบุสาเหตุว่าก่อนที่จะมีการขาย มีแก๊งมอดไม้เข้าไปลักตัดไม้พะยูงในโรงเรียน จึงได้นำปัญหาเข้าหารือกับ ผอ.สพป.เขต 2 กาฬสินธุ์ ที่แนะนำให้ตัดขายเพื่อตัดปัญหาการลักลอบเพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับครูและนักเรียน

การลงพื้นที่เจ้าหน้าที่พบกลุ่มชาวบ้านและครูประจำโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีอาคารเรียนแห่งเดียว สอนนักเรียนจำนวน 33 คน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ปีที่ 6 ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี 2493 ปัจจุบันมีครู 2 คน เป็นคนในชุมชนอำเภอห้วยเม็ก ไม่มีผู้อำนวยการประจำโรงเรียน มีเพียงรักษาการณ์ ผอ.โรงเรียน ซึ่งชาวบ้านได้พาไปดูจุดที่เคยมีไม้พะยูง พบว่าห่างจากอาคารเรียนประมาณ 50 เมตร โดยเล่าว่าสาเหตุที่ได้มีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนเนื่องจากมีปัญหาแก๊งมอดไม้เข้ามาลักลอบตัดไปตั้งแต่ปี 2558 จำนวนหลายครั้ง ครั้งล่าสุดมอดไม้มาลักตัดไม้พะยูงในโรงเรียนในช่วงเดือนมกราคม 2566 และได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยเม็กและได้รายงานไปยังต้นสังกัดมาโดยตลอด

ครูประจำโรงเรียน เล่าว่า เมื่อมีการลักลอบตัดถึงปี 2566 ทางโรงเรียนได้ทำหนังสือรายงานไปถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 หรือ ผอ.สพป.เขต 2 โดยหลังจากรายงานการลักลอบตัดทาง สพป.สั่งให้ทางโรงเรียนสืบสวนข้อเท็จจริง แล้วรายงาน สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ทราบ โดยทางโรงเรียนก็ได้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว แต่ปรากฏว่าได้รับแจ้งจาก สพป.กาฬสินธุ์ บอกว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอ พร้อมกับมีคำแนะนำว่า หากปล่อยให้มีการตัดต้นไม้พะยูงอีก ก็จะถูกสอบวินัยทางโรงเรียนมีครูผู้หญิงเพียง 2 คน จึงเกรงจะเกิดอันตรายและเกรงจะถูกสอบวินัย จึงได้เข้าไปปรึกษา สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เนื่องจากเกรงจะได้รับอันตรายจากบุคคลที่มาลักลอบตัด ทั้งนี้ สพป.กาฬสินธุ์ แนะนำให้ดำเนินการตัดไม้พะยูงขาย โดยให้ทำตามเอกสารตัวอย่างโรงเรียนหลายแห่งที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ และยืนยันกับทางโรงเรียนว่าถูกต้องตามกฎหมายไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จากนั้น วันที่ 31 มกราคม 2566 ทางโรงเรียนฯ ได้ประชุมคณคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขอมติอนุมัติตัดต้นไม้พะยูง ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนส่งหนังสือเรียนธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เรื่องขออนุญาตตัดต้นไม้พะยูงเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้แผ่นดิน ต่อมา วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนส่งหนังสือเรียน ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เรื่องขออนุญาตตัดต้นไม้พะยูงเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้แผ่นดิน จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เข้ามาประเมินต้นไม้พะยูง โดยครูยืนยันไม่มีความรู้เกี่ยวกับไม้พะยูงเพียงทำตามคำแนะนำของ สพป.กาฬสินธุ์ ซึ่งการดำเนินการประเมินราคาก็เกินขึ้นระหว่าง สพป.กาฬสินธุ์ – ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และดำเนินการออกใบเสร็จในตาม สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และมีนายหน้าตัดเข้ามาตัดต้นไม้พะยูง ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ในช่วงกลางวัน โดยเอกสารการประเมินราคา การอนุญาต และได้นำใบเสร็จจ่ายเงิน 3 ต้น จำนวนเงิน 30,000 บาทอยู่ในวันเดียวกัน

“กรณีนี้ตนยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความบริสุทธิ์ใจ เพราะเราเป็นครูน้อย เมื่อมีปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ก็ได้รายงานต้นสังกัด และได้รับคำแนะนำมาแบบนี้ และ เขตพื้นที่การศึกษาก็ยืนยันว่าทุกอย่างทำถูกต้องตามกฏหมายตามระเบียบพัสดุของกรมธนารักษ์ทุกประการ ยอมรับต้นพะยูงที่ถูกตัดรู้สึกเสียดาย แต่การตัดก็เพื่อป้องกันปัญหาจากภัยที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและนักเรียน เพราะจากการติดตามข่าวหลายพื้นที่ก็ไม่เคยเห็นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวคนร้ายได้ โดยเฉพาะครั้งสุดท้าย มีชาวบ้านไปเห็นกลุ่มตัดไม้ในช่วงกลางคืนกลุ่มตัดไม้จะมีความใจเย็นมาก และบอกกับคนที่เห็นว่าอย่าออกมาเพราะมาตัดไม้พะยูงไม่ได้คิดทำร้ายใคร เรื่องนี้ยืนยันว่าการประเมินราคาไม้ มีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ที่ระบุในเอกสารชัดเจน มีการจ่ายเงินตามเอกสารกับ สพป.เขต 2 กาฬสินธุ์ ยืนยันในความบริสุทธิ์ของทางโรงเรียน

แหล่งความด้านความมั่นคง กล่าวว่า ต้นเหตุก็คือคำสั่งอนุญาตให้ตัดโดยธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ซึ่งหากไม่อนุญาตตามคำของทางผู้อำนวยการโรงเรียนหรือสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา เขต 2 การตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหรือในพื้นที่ราชการคงไม่เกิดขึ้น เพราะตรวจสอบขั้นตอนแล้วสาเหตุมาจากการอ้างระเบียบพัสดุของกรมธนารักษ์ ในตัวอย่างที่เปิดเผยออกมา เช่นโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี นอกจากเรื่องระเบียบพัสดุยังเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก รวมถึง โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ อ.ห้วยเม็ก ก็เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นชัดว่านี่คือกระบวนการฟอกขาวตามระเบียบพัสดุ ซึ่งทั้งสองแห่งเมื่อสอบถามไปยังนายอำเภอก็บอกว่าไม่ทราบว่ามีการตัด ซึ่งหากไม่มีชาวบ้านนำปัญหามาประจานทางโซเชียลก็คงจะนั่งทับให้เรื่องเงียบหาย และกลุ่มมอดไม้ก็จะตัดและทำต่อไปจนกว่าจะถูกจับได้
“การที่ทางจังหวัดตื่นตัวออกมาตรวจสอบ จึงเป็นการค้นหาความจริง ความถูกต้อง ตามหลักการทางปกครอง ซึ่งหากเรื่องนี้เป็นฝีมือชาวบ้านก็คงจะถูกอำนาจรัฐเล่นงานตามกฏหมายไปแล้ว แต่เรื่องนี้กลับนิ่งสนิทเงียบกริ๊บโดยเฉพาะต้นสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการคลัง มีแต่ข่าวออกมาให้ตรวจสอบแต่ไม่เห็นดำเนินการอย่างไร ไม่เหมือนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีคำสั่งย้ายและมีการดำเนินการสอบสวนทางวินัยจริงจัง หรือในวันนี้ผู้บริหารในกระทรวงฯต้องการที่จะปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหาย แต่ในส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้คงไม่เงียบเพราะเหตุที่เกิดมีหลักฐานเกี่ยวพันชัดเจน คำตอบจึงขึ้นอยู่กับว่าจะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่หรือจะรอให้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา เขต 2 และ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เกษียณอายุราชการไปเสียก่อน กลายเป็นมวยล้มต้มประชาชนทั้งแผ่นดิน” แหล่งข่าวกล่าวฯ