สุวิทย์ลงพื้นที่กาฬสินธุ์พบยุวชนอาสา ปฏิรูปการเรียนรู้ลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน

“สุวิทย์” ลงพื้นที่กาฬสินธุ์เตรียมความพร้อมโครงการยุวชนอาสาพบ 800 นิสิต – นักศึกษาจาก 9 มหาวิทยาลัย นำร่องพื้นที่กาฬสินธุ์ 1 ใน 10 จังหวัดยากจน ชูแนวคิดนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยร่วมลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมดีเดย์เปิดตัวโครงการ 13 มกราคม 63 ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อประชุมเตรียมการโครงการยุวชนอาสา พร้อมมอบแนวทางในการทำงานกับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 800 คน จาก 9 มหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน พร้อมทั้งหารือร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย หัวหน้าสวนราชการ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมีรศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ส่วนราชการ อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นิสิต และนักศึกษาเข้าร่วม

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงการ “ยุวชนอาสา”เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญในการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนมาเป็นการลงมือทำจริง โดยการนำองค์ความรู้ที่เรียนมาบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยได้เลือกกาฬสินธุ์ถือเป็นจังหวัดนำร่อง ในการดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติด 1ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า จากการรายงานการประมวลผลผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พบว่า จ.กาฬสินธุ์มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวอยู่ที่ 51,147 ต่อคนต่อปี และยังมีสัดส่วนคนยากจนอยู่ที่ 31.99% มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนไทยจะเข้ามาเป็นกลไกลสำคัญในการนำความรู้ความสามารถที่เรียนมา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยกำหนด เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดภายใต้แนวคิด “มั่งคั่งด้วยการเกษตรปลอดภัยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มสูงขึ้น 7% และสัดส่วนคนจนลดลง 2.5% ต่อปี

อย่างไรก็ตามสำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลและยังได้ร่วมพูดคุยและรับฟังปัญหาจากตัวแทนชุมชน รวมทั้งประชุมร่วมกับคณาจารย์ที่ดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ชุมชนมากที่สุด พร้อมทั้งให้โอวาทแก่เยาวชนนิสิตนักศึกษาจำนวนกว่า 800 คนอีกด้วย

ด้าน รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ให้นักศึกษาและอาจารย์ลงพื้นที่จริงในการเรียน เป็นการปฏิวัติการเรียนการสอนให้ลงมาสัมผัสการทำงานจริง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตามโครงการยุวชนอาสาในเฟสแรกจากวันนี้เป็นต้นไป โดยให้นักศึกษาและอาจารย์มาอยู่ในพื้นที่จำนวน 1 ภาคการศึกษา และประเมินผลการเรียนการสอนจากการทำงาน ใช้ศาสตร์ทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งมาเรียนรู้กับชาวบ้านด้วย เช่น ปัญหาการเลี้ยงกุ้ง ก็นำนักศึกษาหลากหลายสาขามาช่วยดูเรื่องการเลี้ยง การแก้ไขปัญหาน้ำ การทำการตลาดและการบัญชีเป็นต้น

สำหรับโครงการยุวชนอาสาเป็นโครงการที่ให้นักศึกษาหลากหลายสาขารวมกลุ่มกันเพื่อบูรณาการความรู้ในการแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นที่ปรึกษา โดยให้นักศึกษาลงไปทำงานในพื้นที่จำนวน 1 ภาคการศึกษา มีประเด็นการพัฒนา 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2.ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมการค้าการลงทุน 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ4.การพัฒนาทุนมนุษย์ลดความเหลื่อมล้ำสร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข นอกจากนี้ยังมีการประเมินผลการเรียนการสอนจากการทำงาน โดยมีโครงการที่เข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 84 โครงการ นำร่องที่ จ.กาฬสินธุ์ ลงชุมชนจำนวน 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมจำนวน 9 แห่ง