อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ประชาชนส่วนใหญ่ยังยึดมั่นใน ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ และประเพณีอื่นๆ คล้ายประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป แต่ยังมีเจ้าพ่อกวน ผู้นำทางจิตวิญญาณ ดำเนินการฟื้นฟู อนุรักษ์ฮีตสิบิสอง คองสิบิสี่ ครบทั้ง 12 เดือนตลอดปี โดยมี เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน นางแต่ง ลูกผึ้งลูกเทียน และชาวบ้านร่วมสนับสนุน ปฏิบัติกันมาช้านานและปฏิบัติกันทุกปี ได้แก่ งานสมโภชและงานนมัสการพระธาตุศรีสิงรัก ซึ่งจัดในวันเพ็ญเดือนหกของทุกปีและงานบุญหลวง ซึ่งนำเอาบุญพระเวสสันดรและบุญบั้งไปมาจัดรวมกัน นิยมจัดในเดือนแปดข้างขึ้น ในงานจะมีการละเล่นชนิดหนึ่ง โดยมีการใส่หน้ากากที่หน้าตาน่าเกลียด น่ากลัวและสวมชุดที่รุ่มร่ามประกอบการละเล่นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ผีตาโขน ซึ่งเป็นงานที่จัดอย่างใหญ่โต ทั้งเป็นงานแปลกและเป็นงานที่น่าสนใจของประชาชนทั่วไป และที่บ้านตูบค้อ ตำบลกกสะทอน เป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งเป็นชาวเขาเพียงหมู่บ้านเดียวในจังหวัดเลย ชาวเขาบ้านตูบค้อ จะมีประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือผี และมีประเพณีที่สำคัญ คือประเพณีปีใหม่ ซึ่งจะมีการละเล่นสะบ้ากัน






แต่ยังมีพิธี “ไหลเรือไฟโบราณ”จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ตรงกับวันออกพรรษา ซึ่งยังไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก เนื่องจากจัดพิธีการเสร็จภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง แต่ต้องตระเตรียมก่อนพิธี 1 สัปดาห์
เจ้าพ่อกวน หรือ ดร.ถาวร เชื้อบุญมี กล่าวว่า ในสมัยก่อน ก่อนจะออกพรรษาพระเณรทำการอัญเชิญเรือประจำวัดโพนชัยซึ่งมีชื่อว่า นางหลาวทอง ลงท่าวังเวิน เพื่อพายเรือไปตกแต่งลำธารทั้งสองฝั่งแม่น้ำหมัน มีประเพณีการแข่งเรือยาวที่ลำน้ำหมันและมีเรือจากหลายวัด ได้มาทำการแข่งขัน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปตามยุคสมัยลำธารตื้นเขิน ทำให้ประเพณีหายไป ต่อมาลำน้ำหมันตื้นเขิน พระเณรพร้อมด้วยคณะญาติโยมได้ร่วมช่วยกันในการประกอบเรือไฟ ปัจจุบันได้ย้ายไปประกอบที่บ้านเหนือซึ่งใกล้สถานที่ไหลเรือไฟและการประกอบเรือไฟ ส่วนมากจะใช้ ไม้ไผ่หนามและต้นกล้วยลำใหญ่ เพื่อไม่ให้เรือจมน้ำและบางครั้งพระเณรต้องปีนตีนไผ่หนามในการตัดเพื่อมาใช้ในการประกอบพิธีไหลเรือไฟ จำนวน 3 ลำ โดยความหมายเรือไฟที่จัดทำขึ้น เรือ หมายถึง การพายเรือข้ามพ้นวัฏฏะสงสารของมนุษย์ ม้า หมายถึง พาหนะของเจ้าชายสิทธัตถะกุมารที่ใช้ในออกผนวชเป็นพระภิกษุ จระเข้ หมายถึง สัญญลักษณ์แสดงถึงการบูชาแม่น้ำ ซึ่งจระเข้เป็นสัตว์ที่ดุร้าย และบูชาแม่น้ำเพื่อมิให้เกิดอาเพศร้ายเกี่ยวกับน้ำ
ด้านเจ้าแม่นาง หรือ นางประกายมาศ เชื้อบุญมีกล่าวว่า ให้ชาวบ้าน รวบรวมลูกหมากแตก หรือ ภาคกลางเรียก กระทงลาย เป็นต้นไม้เลื้อยที่ขึ้นตามชายน้ำ หัวไร่ปลายนา และออกผลสุกช่วงก่อนวันออกพรรษา นำมาตำ นึ่ง และตำ หรือบีบแบบโบราณ ออกมาเป็นน้ำมัน ใส่กระบอบไม้ไผ่ เป็นเชื้อเพลิงแทนเทียนไข และน้ำมันก๊าด จุดรอบแพทั้ง 3 ลำส่องสว่างไปทั่วคุ้งลำน้ำหมัน โดยชุมชนร่วมกันลงทุนทรัพย์ ออกแรงไปหาหมากแตก ตัดไม้ไผ่ ตัดต้นกล้วย ประกอบแพ นอกจากนี้ยังมี พระ เณร จากวัดโพนชัย มาช่วยทำแพ บังคับควบคุมแพไปจนถึงท่าวังเวินระยะทางกว่า 800 เมตร
ด้านนายจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเลย กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย ได้ประชาสัมพันธ์กระตุ้นการท่องเที่ยว โดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย บ้านเหนือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการทำเรือไฟโบราณเพื่อให้มีความยิ่งใหญ่อลังการกว่าทุกปี
โดยจะมีการไหลเรือไฟในวันที่ 29 ตุลาคม 2566 เริ่มตั้งแต่เช้า 05.30 น. เจ้าแม่นางเทียม พร้อมพ่อแสน นางแต่งและชาวบ้าน ทำพิธีแขวน ต้นทาน ณ พระธาตุศรีสองรัก เวลา 09.00 น.เริ่มต่อแพไม้ไผ่ และประกอบรูปร่างเรือไฟโบราณ เวลา 17.00 น.นำเรือไฟโบราณลงลำน้ำหมัน เติมน้ำมัน หมากแตก เพื่อใช้จุดในพิธี เวลา 18.15 น.ขบวนเจ้าพ่อกวน พ่อแสนและชาวบ้าน เริ่มออกเดินจากสะพาน บ้านน้อย มายังบ้านเจ้าแม่นางเทียม เวลา 18.30 น.เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พ่อแสน นางแต่ง ทำพิธีคารวะหิ้ง และร่วมฉลองบริเวณหน้าหิ้ง ณ บ้านเจ้าแม่นางเทียม
เวลา 19.00 น. ขบวนเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พร้อมพ่อแสน นางแต่งและชาวบ้าน เริ่มออกเดินจากบ้านเจ้าแม่นางเทียมไปยังท่าลำน้ำหมัน บ้านเหนือ ชมการแสดงของกลุ่มชุมชนสูงวัยใบบุญ เวลา 19.20 น.เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียมเริ่มพิธีจุดเทียน ปล่อยเรือไฟโบราณ 3 ลำ ประกอบด้วย รูปม้า รูปจระเข้ และรูปเรือ นายอำเภอด่านซ้าย และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมพิธีจุดเทียน และปล่อยเรือไฟโบราณอีก ๖ ลำ ตามขบวนเรือหลัก เสร็จพิธี