เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นถึงสภาพปัญหาและผลกระทบตลอดจนข้อเสนอในการจัดการน้ำของชาวบ้านลุ่มน้ำชี เพื่อให้ชาวบ้านได้สะท้อนถึงสาเหตุของปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชี พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือให้กับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย








วันที่ 8 พ.ย.2566 เวลา 10.00 น.ที่บริเวณลานสาธารณะหนองคำ บ้านคำม่วง หมู่ 7 ตำบลย่อ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร ประมาณ 100 คน ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นถึงสาเหตุของปัญหาและข้อเสนอต่อการจัดการน้ำในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ซึ่งได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นในพื้นที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร รวมทั้งหมด 4 เวที โดยในวันนี้เป็นเวทีสุดท้ายได้มีเสียงสะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น คือ หนึ่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะโครงการโขง ซี มูล เดิม ที่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี เช่น เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ที่สร้างขวางกั้นแม่น้ำชีทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรซ้ำซากและกินระยะเวลายาวนานผิดปกติ 1-4 เดือน ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำไม่ได้สอดคล้องตามฤดูกาล สองการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของเขื่อนฯในแม่น้ำชีทำให้พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังนานกว่าปกติ เพราะชลประทานได้ควบคุมการเปิด-ปิดเขื่อนฯไม่พร่องน้ำออกเพื่อเตรียมรองรับน้ำใหม่ที่จะมา ซึ่งต้องเข้าใจว่าแม่น้ำชีเดิมก่อนที่จะมีเขื่อนฯ แม่น้ำสายนี้ในช่วงฤดูน้ำหลากจะทำหน้าที่เป็นทางน้ำเพื่อพร่องน้ำตามธรรมชาติ และในเวทียังได้ทำข้อเสนอต่อการจัดการน้ำในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ดังนี้ 1.ให้นายกเศรษฐา ทวีสิน เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ในแม่น้ำชี จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งชาวบ้านได้เสนอกับกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถ้ายังไม่เร่งดำเนินการแต่งตั้งชาวบ้านจะเดินทางไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล 2.เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย จะต้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับฤดูกาล โดยการพร่องน้ำออกก่อนเพื่อเตรียมรองรับน้ำใหม่ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก 3.ให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิด-ปิดเขื่อนฯ 4.ฤดูปลาวางไข่จะต้องเปิดเขื่อนเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ 5.ให้ยุติการก่อสร้างสิ่งกีดขวางในแม่น้ำชี 6.รัฐจะต้องสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กในระดับชุมชนที่ชาวบ้านเข้าถึงและจัดการได้จริง เช่น การใช้แผงโชล่าเซลล์ดึงน้ำมาทำการเกษตร การใช้เครื่องสูบจากใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตร เป็นต้นทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จะติดตามข้อเรียกร้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนต่อไป
จากนั้นเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ดจังหวัดยโสธร ได้เดินทางไปที่บริเวณเขื่อนยโสธร-พนมไพร พร้อมกับได้อ่านแถลงการณ์เสียงสะท้อนคนลุ่มน้ำชีถึงการจัดการน้ำที่ผิดพลาดของกรมชลประทาน จากนั้นได้ยื่นหนังสือให้กับ นายพงษ์พิศ ไชยศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 เขื่อนยโสธร-พนมไพร และนายภพธรรม สุนันธรรม นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการ รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำนักงานภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย