ข่าวอัพเดทรายวัน

ศรีสะเกษ ชน 4 เผ่ากว่าครึ่งหมื่นรำฉลองเปิดงาน 241 ปีการสร้างเมืองศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ ชน 4 เผ่ากว่าครึ่งหมื่นรำฉลองเปิดงาน 241 ปีการสร้างเมืองศรีสะเกษ เพื่อเป็นการน้อมบูชาบรรพบุรุษผู้ได้ร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองไว้ให้ลูกหลานได้ร่วมสืบสานรักษา และ ต่อยอดมาจนจวบถึง 241 ปี

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานโคปุระ สวนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชมพรรษา 80 พรรษา ( เกาะห้วยน้ำคำ ) อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ พระวินัยเมธี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธ.) ได้มอบโล่รางวัล”ยอดคนเมืองศรีสะเกษ” ให้กับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ซึ่งเป็นชาว จ.ศรีสะเกษโดยกำเนิด เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยการคัดเลือกของ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษและคณะร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชนจังหวัดศรีสะเกษ จากนั้น นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานบายศรีสู่ขวัญบ้าน บายศรีเมือง รุ่งเรือง 241 ปีการสร้างศรีสะเกษ ด้วยการเป่าสะไนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีเฉพาะถิ่นของ จ.ศรีสะเกษ และมีการนำเอาสะไนจำนวน 241 อัน มาร่วมเป่าเปิดงานด้วย

โดยหลังจากพิธีเปิดงานแล้ว ได้มีการแสดงรำโดยชน 4 เผ่าดั้งเดิมของ จ.ศรีสะเกษ ประกอบด้วยเผ่าเขมร เผ่ากูย เย่าเยอ และ เผ่าลาว จำนวนกว่า 5,000 คน ที่พากันแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง มาร่วมฟ้อนรำอย่างยิ่งใหญ่สวยงามตระการตา เพื่อเป็นการน้อมบูชาบรรพบุรุษผู้ได้ร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองไว้ให้ลูกหลานได้ร่วมสืบสานรักษา และ ต่อยอดมาจนจวบถึง 241 ปี อีกทั้งเป็นการแสดงออกถึงพลังความรักความสามัคคีของคนทั้ง 22 อำเภอที่รวมใจเป็นหนึ่งเพื่องานนี้ ขณะที่ภายในงานยังได้จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม และ การจำหน่ายสินค้าโอทอป หรือ ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองศรีสะเกษทั้ง 22 อำเภออีกด้วย โดยมี นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี น.ส.ชนมณัฐ รอดบุญธรรม รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยประกอบด้วย นายธเนศ เครือรัตน์ นายอมรเทพ สมหมาย ดร.วิลดา อินฉัตร นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ น.ส.นุชนาถ จารุวงษ์เสถียร นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนมาร่วมพิธีเปิดงานจำนวนมาก

นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดทำโครงการ “ยอดคนเมืองศรีสะเกษ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้กำลังใจแก่บุคคลที่ทุ่มเทเสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ ทำงานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุก ๆ ด้าน โดยมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนทั่วไป และได้วางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาจังหวัดได้อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยสภาวัฒนธรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือก ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน ได้พิจารณาร่วมกันแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ นักเศรษฐศาสตร์ นักวางแผนและพัฒนา นักบริหารการเงินการคลังของประเทศ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ที่ได้รับโล่รางวัล “ยอดคนเมืองศรีสะเกษ” เพื่อให้สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “นักรบเมืองโคราช นักปราชญ์เมืองอุบล ยอดคนเมืองศรีสะเกษ” เพราะได้ขับเคลื่อนและเปลี่ยนโฉมหน้าการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม และการบริหารการเงินการคลังให้มีเสถียรภาพแม้ในช่วงที่ประเทศต้องประสบกับวิกฤตโควิด-19 และล่าสุดได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566

นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองการสร้างเมืองศรีสะเกษครบ 241 ปี จ.ศรีสะเกษจึงได้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม รวมพลังคน 4 เผ่า ประกอบด้วย เผ่าเขมร เผ่ากูย เผ่าเยอและเผ่าลาว จัดงานเฉลิมฉลอง 241 ปี เสริมบารมี อะไรอะไรก็ดีที่ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 17 – 21 พฤศจิกายน 2566 ณ บริเวณสวนสาธารณะลานออดหลอด “ อนุสรณ์ 238 ปีจังหวัดศรีสะเกษ และบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ( เกาะห้วยน้ำคำ) อำเภอเมืองศรีสะเกษ โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การทำบุญตักบาตร การบายศรีสู่ขวัญ การฟ้อนรำของเหล่านางรำจากทั้ง 22 อำเภอ แต่งชุดประจำเผ่าพื้นถิ่นมาร่วมฟ้อนรำอย่างสวยงามตระการตากว่า 5,000 คน ตลอดการจัดงานจะมีการจำหน่ายสินค้าโอทอป และสินค้าพื้นถิ่นอีกมากมาย เพื่อเชิดชูและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งสร้างเมืองและปกปักรักษาให้ลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุขสืบถึงปัจจุบันนี้