เขื่อนลำปาวส่งน้ำวันละ 1 ล้านลบ.ม.ช่วยภัยแล้งพื้นลุ่มน้ำชี 4 จังหวัด

สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยืนยันเพียงพอส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ และสนับสนุนพื้นที่ลุ่มน้ำชีที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธรและอุบลราชธานี พร้อมขอความร่วมมือประชาชนให้รู้จักแบ่งปันน้ำ รักษาความสะอาดคูคลองร่วมกัน ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า

ผอ.เขื่อนลำปาวขอความร่วมมือประชาชนให้รู้จักแบ่งปันน้ำ รักษาความสะอาดคูคลองร่วมกัน ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว พร้อมระบุว่า  สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,363  ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 68.87  มีการระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง (spill way) เพื่อส่งน้ำลงลำน้ำ และลงในคลองส่งน้ำทั้ง 2 ฝั่ง เฉลี่ยวันละ  5.13 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการบริหารจัดการน้ำจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ที่คาดว่าจะมีประชาชนทำการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 259,894 ไร่  พืชไร่-พืชผัก 197 ไร่ บ่อปลา 1,495 ไร่  และ บ่อกุ้ง 3,348 ไร่ รวม 264,934 ไร่ และปัจจุบันได้มีการส่งน้ำนอนคลอง เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง โดยในส่วนนี้ได้สำรองน้ำไว้ 511 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายฤาชัย กล่าวอีกว่า สำหรับในปีนี้เขื่อนลำปาวเป็นเพียงเขื่อนเดียวในกลุ่มลุ่มน้ำชี ที่มีน้ำเพียงพอ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนทางสำนักชลประทานที่ 6 ขอนแก่น สำนักชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์จึงได้บูรณาการทำแผนร่วมกันส่งน้ำลงสู่ลำน้ำปาว เพื่อให้ไหลลงน้ำชี ซึ่งเป็นการสนับสนุนน้ำช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มน้ำชีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธรและอุบลราชธานี รักษาระบบนิเวศและใช้ในการอุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากในปีนี้เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำชีมีปริมาณน้ำน้อย โดยปัจจุบันเขื่อนลำปาวส่งน้ำเฉลี่ยวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะดำเนินการส่งไปถึงสิ้นสุดฤดูแล้ง แต่จะไม่ให้กระทบกับผู้ใช้น้ำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งในส่วนนี้ได้สำรองน้ำไว้ 235 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามแม้น้ำในเขื่อนลำปาว จะมีใช้อย่างพอเพียง แต่ขอความร่วมมือเกษตรกร ประชาชน ให้รู้จักแบ่งปันน้ำ รักษาความสะอาดคูคลองร่วมกัน ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า