เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดยโสธรจัดเวทีแลกเปลี่ยนกินปลาเว้าพื้นความหลังและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศของคนแม่น้ำชี เพื่อนำเสนอสถานการณ์ผลกระทบจากนโยบายการจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนน้ำชีให้เกิดการแลกเปลี่ยน พูดคุย นำเสนอ ปลากับความมันคงทางอาหารของคนน้ำชีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงการอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากร และรับรู้ข้อมูลการปรับตัวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนน้ำชี
ที่บริเวณสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านบุ่งหวาย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร พ.จ.อ.อนุสิทธิ์ บัวหุ่ง นายอำเภอคำเขื่อนแก้ว เป็นประธานเปิดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยน กินปลา เว้าพื้นความหลังและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศของคนแม่น้ำชี โดยเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร ร่วมกับ ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชมลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นอีกองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ประเด็นนโยบายการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำชีตอนล่างที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม จึงนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง ในขณะที่มิติเรื่องปลาก็เป็นอีกประเห็นที่ชุมชนในพื้นที่ใต้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึง “วัฒนธรรมการหาปลา วัฒนธรรมการกินปลา” ถือได้ว่าเป็นอีกวิถีชีวิตของชุมชนคนลุ่มน้ำชีที่ยึดโยงกันมาตั้งแต่ตั้งชุมชนจนถึงปัจจุบัน แต่นโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันหน้ามาพูดคุยกัน ทางองค์กรและเครือข่ายฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงจะจัดกิจกรรม “กินปลา เว้าพื้นความหลังและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศของคนแม่น้ำชี” ในวันนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสถานการณ์ผลกระทบจากนโยบายการจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนน้ำชี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน พูดคุย นำเสนอ ปลากับความมันคงทางอาหารของคนน้ำชี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรวมถึงการอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรให้เกิดการเรียนรู้ รับรู้ข้อมูล การปรับตัวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนน้ำชี และเพื่อร่วมกันทำอาหารและชิมอาหารจากเมนูปลาแม่น้ำชีหลากหลายเมนูตามฤดูกาล











สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยแสดงความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศของคนแม่น้ำชีโดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนประกอบด้วย นายนิมิต หาระพันธ์ กรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำชีจังหวัดยโสธร นายสุกุล ก้อนคำ กรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำชีจังหวัดยโสธร นายมานพ สนิท กรรมการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม(ภาคตะวันออก) ผศ.ดร.ภทรพงษ์ เกริกสกุล อาจารย์จากมวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายนิรันดร คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ดำเนินรายการโดย นายจำลอง ชะนะมณี ผู้อำนวยการกลุ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การสาธิตการปรุงเมนูอาหารจากปลาแม่น้ำชีหลากหลายเมนู ทั้งลาบปลา ต้มปลา ก้อยปลา และย่างปลา และกิจกรรมร่วมกันกินปลารับประทานอาหารจากเมนูปลาแม่น้ำชีร่วมกันอย่างเอร็ดอร่อยและเป็นกันเอง โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมประกอบด้วยเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดยโสธร เครือข่ายชายฝั่งทะเลบูรพา 5 จังหวัด ภาคตะวันออก เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จำนวน 200 คน