
วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 12.30 น ที่ สถานีตำรวจภูธรเขวาใหญ่ ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม พ.ต.อ.พงษ์ศิริ พลเยี่ยม ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเขวาใหญ่ เปิดเผยว่า ในห้วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีนิสิตมหาวิทยาลัยฯ ในเขตความรับผิดชอบของ สภ.เขวาใหญ่ ถูกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงให้โอนเงินในรูปแบบต่าง ๆ จำนวนมากถึง 60 ราย บางรายก็โอนเงินให้ บางรายก็ยังไม่ได้โอนเงิน และบางรายถูกข่มขู่ให้ถ่ายรูปเปลือยส่งไปให้แก๊งมิจฉาชีพอีกด้วย









ในช่วงนี้แต่ละวันจะมีนิสิต เดินทางมาแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันวันละประมาณ 5-10 ราย แต่ละรายจะถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ อ้างว่าเป็นตำรวจ ส่วนผู้เสียหายก็คือนิสิต มีคดีพัวพันเกี่ยวกับคดีฟอกเงิน บางรายก็อ้างว่าผู้เสียหายไปติดตั้งอินเตอร์เน็ตไว้ และไม่ได้ชำระเงิน เรื่องกำลังจะถูกฟ้องร้อง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น มีการอ้างว่า หน้าตาของผู้เสียหาย ไปคล้ายกับหญิงที่ไปหลอกลวงขายคลิปสยิวในกลุ่มลับ ให้ถ่ายรูปเปลือยไปให้ดู เพื่อเปรียบเทียบตำหนิรูปพรรณ รอยสักในร่มผ้า เมื่อถ่ายรูปให้ดูแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าถูกข่มขู่เอาเงินจากผู้เสียหาย รวมไปถึงกรณี ข่มขู่รีดทรัพย์ เมื่อนิสิตไม่มีเงินแล้ว ก็บอกให้ไปหลอกผู้ปกครองว่าจะเอาเงินไปจ่ายค่าเทอม หรือไปทัศนศึกษา เพื่อให้ผู้ปกครองโอนเงินมาให้นิสิต แล้วนิสิตก็โอนไปให้กับแกงค์มิจฉาชีพอีกทีหนึ่ง
สำหรับสถิติการรับแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ สภ.เขวาใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2567 มีการแจ้งความทั้งสิ้น 653 ราย ยอดความเสียหาย 9,891,499.96 บาท และในห้วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ถึง 10 ตุลาคม 2567 มียอดรวมทั้งสิ้น 60 ราย ยอดเงิน 2,219,684.02 บาท แบ่งเป็น การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 13 ราย ยอดเงิน 93,025 บาท หลอกลวงเป็นผู้อื่นเพื่อยืมเงิน 1 ราย ยอดเงิน 1,605 บาท หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ 3 ราย ยอดเงิน 12,808 บาท หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 6 ราย ยอดเงิน 342,830 บาท และข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัว แล้วหลอกให้โอนเงิน 37 ราย ยอดเงิน 1,769,416.02 บาท
ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่นิสิตจะถูกมิจฉาชีพข่มขู่ จับเป็นตัวประกัน หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็คือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้โอนเงิน ยกตัวอย่าง มีเคสน้องนักศึกษารายหนึ่ง ถูกข่มขู่ว่าจะจับตัว แต่จะมี 2 วิธีให้เลือกคือ 1 ให้โอนเงินไปตรวจสอบ และ 2 ให้ถ่ายรูปเพื่อดูรูปร่าง ว่าตรงกับคนที่แก๊งมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งน้องก็หลงเชื่อ จึงได้ถ่ายรูปเปลือย ไปให้กับมิจฉาชีพ แต่กลับถูกข่มขู่เอาเงินอีก ซึ่งเคสนี้เสียเงินไปประมาณ 50,000 บาท ซึ่งในเคสข่มขู่ ตำรวจก็ช่วยได้บางเคส เช่น มีผู้ปกครองโทรมา บอกว่าให้ช่วยไปดูลูกที่หอพักให้ เพราะว่าลูกถูกทำร้าย ต้องโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ ซึ่งตำรวจหลังรับแจ้งก็ได้เข้าตรวจสอบ ก็พบว่า ไม่ได้ถูกทำร้าย แต่มีการสร้างคอนเทนต์ กักขังตัวเองไว้ในห้อง ทาสีคอให้อยู่ในลักษณะว่าถูกรัดคอ กำลังจะถูกฆ่า ให้ผู้ปกครองรีบโอนเงินมาให้ ซึ่งกว่าจะเจรจาและชี้แจงก็กินเวลาไปกว่า 2 ชั่วโมง อีกรายก็ลักษณะคล้ายกัน โอนเงินตัวเองจนหมด ก็โทรขอผู้ปกครองถึง 4 แสนบาท เพื่อที่จะโอนไปให้มิจฉาชีพ ทำทีว่าถูกจับอยู่ในป่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกับพ่อของผู้เสียหายที่ซุ่มดูอยู่ ก็โทรศัพท์ไปหา เพื่อให้ออกมาจากป่า และเข้าเจรจา ทำให้ไม่เสียเงิน 4 แสน แต่น้องนักศึกษาคนนี้ก็โอนเงินไปให้กับแก๊งมิจฉาชีพกว่าหนึ่งแสนบาท
โดยแก๊งมิจฉาชีพ คอลเซนเตอร์พวกนี้ จะให้จิตวิทยาในการพูดคุย หลอกล่อ จนกระทั่งถึงขั้นแอดไลน์ จากนั้นก็จะมีหมายจับ หมายทางคดีต่าง ๆ ส่งมาให้ทางไลน์ ทำให้น้องนักศึกษาหลงเชื่อ และมิจฉาชีพจะถามว่าอยู่คนเดียวหรือไม่ ให้แยกตัวมาอยู่คนเดียว ก่อนจะโน้มน้าวและใช้จิตวิทยาหลอกให้โอนเงินให้ ซึ่งทางตำรวจ สภ.เขวาใหญ่ ก็ได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยฯ ออกประชาสัมพันธ์ แจ้งให้ระมัดระวังกลโกงของมิจฉาชีพ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เพราะช่วงนี้มีนิสิต นักศึกษาจำนวนมากที่ถูกหลอกในลักษณะนี้
ด้านผู้ปกครองของนิสิตมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง เล่าว่า คุณแม่อายุ 63 ปีแล้ว เลิกใช้โทรศัพท์มานาน 4-5 ปีแล้ว เพราะกลัวพวกคอลเซนเตอร์ เพราะเคยโดนคอลเซนเตอร์โทรมาหลอกลวง แต่ยังไม่ได้เงินไป ทีนี้ลูกสาวมาเรียนปี 4 ทางบ้านจะส่งเงินมาให้เดือนละ 2,000-3,000 บาท ลูกสาวเป็นคนประหยัด มัธยัสถ์มาก เมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว ลูกโทรมาขอเงินเพิ่ม ก็แปลกใจ จนมาทราบความจริง ลูกเล่าว่า มิจฉาชีพปลอมเป็นตำรวจ ตัวลูกไปพัวพันเกี่ยวกับคดีฟอกเงิน โดนไป 58,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บของน้อง ก่อนที่น้องจะโทรศัพท์มาขอเงินที่บ้านอีก 13,000 บาท บอกว่าจะเอาไปจ่ายค่าหอ ทางบ้านก็คิดว่าลูกใช้เงินเยอะเพราะใกล้จะเรียนจบแล้ว ทางบ้านก็ไปกู้เงินมาให้ ดอกร้อยละ 5 ได้เงินมาแล้วก็โอนไปให้ ตอนนี้หมดตัวแล้ว พี่ชายเหลือ 200 บาท แม่เหลือเงิน 5 บาท ไม่มีเงินจะกินข้าวแล้ว แม่คิดว่ามันไม่ใช่ความผิดของลูกแม่ เรื่องแบบนี้มันกระจายไปทั่ว ทำไมรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ ไม่จัดการสักที ข้อมูลมันรั่วไหลไปหมดแล้ว สงสัยว่าข้อมูลรั่วไหลจากช่วงโควิดรึป่าว ที่ให้มีการไปฉีดวัคซีนกัน แต่แม่ก็ไม่รู้ว่าข้อมูลมันรั่วไหลไปได้ยังไง จะเอาชื่อ เอาเลขบัตรของลูกสาวไปกู้เงินรึป่าว ก็เป็นกังวล เรื่องคอลเซนเตอร์ มันนานมากแล้ว อยากให้รัฐบาลจัดการอย่างจริงจังสักที ตอนนี้อยากให้เวรกรรมตามทัน แต่ก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีเวรกรรมถึงจากตามทัน อยากได้เงินคืน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้เงินคืนเมื่อไหร่
ด้านน้องนิสิต 2 คนนี้ ก็ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรศํพท์มาหลอกลวง ซึ่งน้องคนที่ใส่เสื้อสีดำ เล่าว่า ตอนมิจฉาชีพโทรมา สามารถบอกหมายเลขบัตรประชาชนของตนได้อย่างถูกต้อง บอกว่าชื่อของตนได้เอาไปเปิดซิมที่จังหวัดตาก ถามว่ารู้จักคนที่ไปเปิดหรือไม่ ซึ่งมีส่วนพัวพันกับการฟอกเงิน จากนั้นก็ให้แอดไลน์ แต่ตนไม่ได้แอด เพราะทราบว่าเป็นมิจฉาชีพ ส่วนเพื่อนของตนอีกคนที่มาด้วยกันในวันนี้ ถูกแกงค์มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินไป 37,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บของเพื่อน และเป็นเงินของผู้ปกครองที่ส่งมาให้ โดยเพื่อนเล่าให้ฟังว่า มิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามา ตนนั้นกำลังงัวเงียเพิ่งตื่นนอน บอกว่ามีคนเอาชื่อไปเปิดซิม ที่จังหวัดตากเหมือนกัน จากนั้นก็ให้แอดไลน์ อ้างว่าเป็นตำรวจ มีแบล็กกราวน์เป็นป้าย สภ.ตาก มีการถ่ายหมายเรียกให้ดู พร้อมกับแนะนำการแจ้งความออนไลน์ โดยให้เพื่อนโอนเงินไปให้เพื่อตรวจสอบเป็นเงิน 37,000 บาท และเมื่อตรวจสอบแล้วจะโอนเงินกลับมาให้ โดยเพื่อนบอกว่าเพื่อนไม่มีตังค์ มิจฉาชีพก็ให้โทรศัพท์ไปบอกผู้ปกครองว่าให้บอกว่าเป็นค่าเทอม และให้โอนเงินเข้ามาให้บัญชีเพื่อน แล้วเพื่อนก็โอนไปให้มิจฉาชีพอีกที ซึ่งเป็นเงินของเพื่อน 7,000 บาท และเป็นเงินผู้ปกครอง 30,000 บาท ซึ่งเพื่อน ๆ ที่คณะก็โดนพวกมิจฉาชีพโทรมาหามากกว่า 10 คน บางคนก็โอนเงินให้ บางคนก็ไม่ได้โอน ไม่มีอะไรจะฝากถึงมิจฉาชีพ อยากให้คนทั่วไป ระมัดระวังตัวเอง มีสติให้มาก ๆ อยากให้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องหมายเลขที่ใช้ในการแจ้งความออนไลน์ เพราะตนก็เพิ่งทราบหลังจากที่เกิดเรื่อง
ส่วนน้องอีกคนที่สวมเสื้อสีชมพู รายนี้ยังไม่ได้โอนเงินให้กับมิจฉาชีพ โดยน้องเล่าให้ฟังว่า มิจฉาชีพโทรมา บอกว่ามาจากบริษัท ทรู คอปเปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ โทรมาสอบถามการติดตั้งเราท์เตอร์วายฟายกับลูกค้า โดยถูกแอบอ้างเอาบัตรประชาชนไปใช้ พร้อมกับบอกเลขบัตรประชาชนของตนอย่างถูกต้อง ตนก็ตกใจ โดยโยงให้ไปพูดคุยกับตำรวจ ซึ่งตนเองเอะใจตรงนี้ มิจฉาชีพบอกว่ามาจากทรู แต่ตนให้โทรศํพท์ดีแทค ก็เลยไม่หลงเชื่อ ก่อนจะวางสายไป ซึ่งกังวลว่า ชื่อตนและหมายเลขบัตรประชาชนของตน ตกอยู่ในมือของมิจฉาชีพ เกรงว่าจะเอาไปทำอะไรที่ผิดกฎหมาย หรือเอาไปกู้เงินเป็นล้านสองล้าน ตนเองและครอบครัวจะเดือดร้อน จึงได้มาแจ้งความลงบันทึกประจำวันเอาไว้