องคมนตรีติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชีที่กาฬสินธุ์

องคมนตรี ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

                เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 มกราคม 2563 นายอําพน กิตติอําพน องคมนตรี เข้าติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ในอำเภอสหัสขันธ์ อำเภอคำม่วง และอำเภอยางตลาด อยู่ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ 36กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2506 สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2511 เพื่อปิดกั้นลำน้ำปาวและห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง เขื่อนลำปาวสร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตร โดยมีความจุประมาณ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ในช่วงที่ประเทศไทยประสบภัยจากพายุโซนร้อนโพดุลเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2562 และเกิดอุทกภัยขึ้น สร้างความเสียหายอย่างมากต่อหน้าข้าวกว่า 1 ล้านไร่ ในจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุด จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า เขื่อนลำปาวสามารถเก็บน้ำได้มากกว่า 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วง 7 วันที่เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องกว่า 600 มิลลิเมตร  ซึ่งจากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้รายงานว่า เขื่อนลำปาวและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางสามารถชะลอน้ำได้กว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรในลุ่มน้ำชี เป็นการบรรเทาผลกระทบจากอุบัติภัยในครั้งนั้น

ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำสำรอง 1,280 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นแหล่งน้ำสำรองที่มีความสำคัญมากในขณะนี้จากสภาวะภัยแล้งที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น โดยในระยะที่ผ่านมาเขื่อนลำปาวได้ทำการบริหารจัดการน้ำโดยส่งน้ำเข้าพื้นที่นาปรังกว่า 300,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงเกิดพายุโซนร้อนโพดุล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เขื่อนลำปาวจะต้องบริหารจัดการน้ำน้อยและต้องเฝ้าระวังถึงแม้ว่าจะมีน้ำกักเก็บกว่าร้อยละ 60 เนื่องจากคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า จะมีฝนตำกว่าเกณฑ์จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ประกอบกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวจะต้องส่งน้ำช่วยเหลือจนถึงจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธรด้วย

ทั้งนี้แม้ว่าจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่ตั้งของเขื่อนลำปาว แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานก็เริ่มขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตของการประปาภูมิภาค ซึ่งในพื้นที่ที่มีผลกระทบรุนแรง กองทัพบกและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาได้เริ่มดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาลใน 118 จุด เพื่อสนับสนุนประปาหมู่บ้าน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมชลประทานได้เข้าไปช่วยเหลือในการจัดหาน้ำผิวดินและสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการจัดทำน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในช่วงนี้แล้ว