
พระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2103 เสร็จในปี พ.ศ. 2106 สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา กับ สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช กรุงศรีสตนาคนหุต (ล้านช้าง) กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสําคัญของชาติในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 จากภาพสำเนาจารึกกรมศิลปากรหลักจริงที่ ฌ็อง มารี โอกุสต์ ปาวี นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ผู้สำรวจดินแดนบริเวณฝั่งแม่น้ำโขง ขนย้ายไปหอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ พ.ศ. 2449 สภาพจารึกชำรุดแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เรียงต่อกัน 4 ชิ้น มีข้อความเป็นการประกาศความสัมพันธ์ในฐานะมิตรประเทศระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีอยุธยา กับ พระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาครหุต (ล้านช้าง)
ซึ่งได้ทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักขึ้นเป็นสักขีพยานว่า กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทรงรักและสนิทสนมกัน เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในโลก ที่พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ได้นิมนต์พระมหาอุบาลี พระมหาเถรวิริยาธิกมุนี และพระสงฆ์อีก 10 รูป พร้อมเชิญมหาอุปราชและเสนาอมาตย์ของทั้งสองอาณาจักร มาร่วมพิธีกระทำสัตยาธิษฐาน แล้วทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ศรีสองรักไว้เป็นสักขีพยาน
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ศิลปะล้านช้าง ก่อด้วยอิฐถือปูนมีฐานเป็นเหลี่ยมจัตุรัส องค์พระธาตุสูง 19.19 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10.89 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรง “บัวเหลี่ยม” ขนาดกว้างด้านละ 8 เมตร สูง 32 เมตร ตั้งอยู่บนฐานเขียงเตี้ย คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง(เวียงจันทน์) พระธาตุศรีโคตรบอง(แขวงคำม่วน) และอีกมากมายแถบลุ่มน้ำโขง ถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์(หมายถึงเจดีย์สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศให้พระศาสนาโดยไม่กำหนดว่าต้องเก็บรักษาสิ่งใด) ภายในวิหารข้างพระธาตุฯยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะล้านช้างทรงเครื่องอยุธยา หัวนาคปรกสร้างด้วยศิลา องค์พระพุทธรูปสร้างด้วยทองสำริด มีหน้าตักกว้าง 21 นิ้ว สูง 30 นิ้ว ทุกวันขึ้น 15 เดือน 6 ชาวอำเภอด่านซ้าย จะร่วมกันจัดงานสมโภชพระธาตุฯโดยจะนำต้นผึ้ง มาถวายพระธาตุฯถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ประจำทุกปี
ชาวเมืองด่านซ้ายแต่โบราณ ส่วนใหญ่ เคลื่อนย้ายถิ่นฐานมาจากทางหลวงพระบาง มาตามลำน้ำโขง แล้วขึ้นมาตามลำน้ำเหืองที่เป็นสาขา เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามสองฝั่งลำน้ำหมัน อันเป็นต้นน้ำสายหนึ่งของลำน้ำเหือง สองฝั่งลำน้ำหมันเป็นที่ราบที่มีเทือกเขาขนาบทั้งสองด้าน ต้นน้ำหมันมาจากเทือกเขาที่มีสันปันน้ำระหว่างลำน้ำป่าสัก ลำน้ำแควน้อย และลำน้ำหมัน และได้ตั้งบ้านเรือนถาวร จนเมื่อมีการสร้างพระธาตุศรีสองรัก จนเกิดวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน ดังเห็นได้จากเรื่องเล่าและตำนานต่างๆที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนด่านซ้าย ไม่ว่าจะเป็นตำนานการสร้างพระธาตุศรีสองรัก และความเชื่อเรื่อง “ เจ้าพ่อกวน ”
ความเชื่อถือ และศรัทธาของคนในท้องถิ่นที่มีต่อพระธาตุศรีสองรัก นอกจากจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีดวงวิญญาณบรรพบุรุษสิงสถิตอยู่ เพื่อปกปักรักษาและคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขแล้ว ยังยึดมั่นแนวคิดเรื่องบาป บุญ การกระทําความดี ตามวิถีชาวพุทธศาสนา มีกิจกรรมสำคัญตลอด 4 วัน ประกอบด้วย พิธีเปิดงานในวันที่ 8 พฤษภาคม พิธีทำบุญตักบาตร ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ การรำถวายพระธาตุจากนารำ 9 ตำบล การแสดงรำเปิดงานบูชาคารวะธาตุ จากนักเรียนโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา เปิดงานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ประจำปี 2568 วันที่ 9 พฤษภาคม เป็นการประกอบพิธีล้างธาตุและคารวะธาตุ วันที่ 10 พฤษภาคม แห่น้ำสรงพระราชทานฯ รอบเมืองด่านซ้าย เปิดให้ประชาชนทั่วไปนมัสการพระธาตุศรีสองรัก และพิธีแห่นาค พิธีทำขวัญนาค ณ วัดโพนชัย และวันที่ 11 พฤษภาคม วัดสุดท้ายของงานเป็นพิธีทำบุญตักบาตร ณ วัดโพนชัย พิธีบูชาพระธาตุ พิธีถวายต้นผึ้งและพิธีสรงธาตุ สรงน้ำพระราชทานองค์พระธาตุศรีสองรัก พิธีเวียนเทียน พิธีจุดบั้งไฟ และบรรพชาอุปสมบท ณ วัดโพนชัย
นายสัมฤทธิ์ สุภามา ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลยและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับองค์พระธาตุศรีสองรักคือ ไม่ควรนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดงขึ้นไปนมัสการ เพราะองค์พระธาตุสร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี สีแดงเป็นสัญญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง ไม่ควรกางร่มสวมหมวกและสวมรองเท้าขึ้นไปบนพระธาตุ ไม่ควรนำเด็กต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปนมัสการ (หมายเหตุ:ก่อนท่านจะทำหรือ ประกอบพิธีใดๆ ที่เกี่ยวกับองค์พระธาตุขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าองค์พระธาตุก่อน)