
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร แจ้งเตือนประชาชนงดบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หลังพบผู้เสียชีวิตจำนวน 1 รายจากโรคแอนแทรกซ์
01 05 68 กลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร ออกประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร งดบริโภคเนื้อวัว ควาย แพะ และแกะในรูปแบบดิบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 เมื่อประชาชนในพื้นที่ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล ได้สัมผัสและบริโภคเนื้อวัวที่คาดว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรค ต่อมาเริ่มมีอาการไข้และมีตุ่มที่ผิวหนัง จึงถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลดอนตาล และต่อมายังโรงพยาบาลมุกดาหาร แต่อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตในวันที่ 30 เมษายน 2568 แพทย์วินิจฉัยว่าเสียชีวิตจากโรคแอนแทรกซ์ โดยผู้เสียชีวิตรายนี้นับเป็นรายแรกของจังหวัดมุกดาหาร
นายแพทย์ณรงค์ จันทร์แก้ว สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้มีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่บริโภคเนื้อวัวร่วมกับผู้ป่วย พร้อมให้ยาป้องกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2568 ทั้งนี้ โรคแอนแทรกซ์ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ในส่วนของมาตรการควบคุมโรค อำเภอดอนตาลได้จัดตั้งจุดตรวจและจุดสกัด 4 แห่ง ได้แก่ บ้านป่าพะยอม บ้านนาห้วยกอก บ้านภูวง และหน้าสถานีตำรวจภูธรป่าไร่ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ ณ บ้านโคกสว่าง ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล โดยพบว่ามีการเข้าตรวจสอบจุดชำแหละวัวที่มีอาการต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่จากด่านกักกันสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ และทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณโดยรอบ และฉีดวัคซีนให้กับโค และกระบือ ในรัศมี 5 กิโลเมตรจำนวน 800 ตัว เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค
นายทัศนเทพ รักษ์พิทักษ์กุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านโคกสว่าง เปิดเผยว่า สถานการณ์โดยรวมไม่น่าเป็นห่วง ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการและท้องถิ่น ที่เข้ามาสนับสนุนการควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด และได้มีการรณรงค์ให้ประชาชน งดบริโภคเนื้อดิบ รวมถึงขอความร่วมมือหากพบสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะวัว มีอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
นายทัศนเทพ รักษ์พิทักษ์กุล ผู้ใหญ่บ้าน เปิดเผยอีกว่า เริ่มแรกวันที่ 12 เมษายน และวันที่ 13 เป็นบุญผ้าป่า ได้ซื้อวัวมาชำแหละแบ่งปันกัน มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมาร่วมชำแหละด้วย และมีบาดแผลเป็นตุ่มอยู่ที่มือ และได้มาชำแหละวัวด้วยกัน หลังจากนั้นก็ได้แยกย้ายกัน วันที่ 14-15 เมษายน เริ่มมีอาการ ยังไม่ไปรักษาตัว พอมาวันที่ 28 เมษายน มีวัวตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ได้ประสานปศุสัตว์อำเภอมาตรวจสอบในการตาย เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ฝังดินฝังกลบ แต่มีทีมงานอีก 1 ชุด มานำวัวตัวนั้นมาชำแหละ เพื่อแบ่งปันไปทำอาหาร พอดีได้ทราบข่าวของผู้ป่วย คือ นายพัฒน์ คนยืน ผู้ตาย ก็ได้ประกาศให้ช้าวบ้านที่นำเนื้อวัวไป ให้นำเนื้อวัวไปกลบฝังดินเผา ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ออกมาสำรวจ ฉีดวัคซีน ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อที่บริเวณป่าสวนยางพาราที่ชำแหลพวัว และบริเวณใกล้เคียงที่ชำแหละ ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบว่ามาจากหมูหรือมาจากวัว วัวที่มาชำแหละมาจากบ้านนาสะโน อำเภอดอนตาล พื้นที่ใกล้กัน ส่วนผลการตรวจชิ้นเนื้อวัวจะออกในวันศุกร์ ตอนนี้มีผู้ป่วย 4 คน เสียชีวิต 1 คน กำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 คน
นายบุญ คนยืน อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 87 หมู่ 6 บ้านโคกสว่าง บอกว่า กังวลใจที่มีคนตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ มาจากวัวกลังแพร่กระจายที่บ้านมีหลายตัว ทางปศุสัตว์ออกมาฉีดยาวัวในหมู่บ้านทุกตัว ออกมาติดตามตลอด วัวตายเจ้าของอยากชำแหละ และคนชำแหละก็มีบาดแผลมาก่อน ผู้ตายมีอาชีพก่อสร้าง เป็นคนบ้านเหล่าหมี ชาวบ้านมีความกังวลเพราะห่วงสัตว์เลี้ยงของตนเอง ทางเจ้าหน้าที่ได้สกัดเขตปริมณฑล 5 กม. ห้ามนำสัตว์เข้า-ออก ทางเจ้าหน้าที่ได้ลงมาพื้นที่เกิดเหตุทางชาวบ้านก็สบายใจขึ้น
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานทางการ และหากมีอาการเข้าข่าย เช่น ไข้ ไอ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ผิวหนังมีตุ่มหนองกลายเป็นแผลสีดำ หรือมีอาการทางเดินอาหารผิดปกติ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วยหรือบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ปรุงสุก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ ยืนยันผู้ป่วยเสียชีวิต ( นายพัฒน์ คนยืน ) อายุ 53 ปี ชาวบ้านเหล่าหมี ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร โรคประจำตัว เบาหวาน อาชีพรับจ้างก่อสร้าง – เริ่มป่วยวันที่ 24 เม.ย 68 มีตุ่มแผลที่มือข้างขวา – วันที่ 27 เม.ย 68 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลดอนตาลด้วยอาการ แผลที่มือของผู้ป่วยเริ่มมีสีดำชัดเจนขึ้น ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (ข้างขวา) โต ขณะรอตรวจที่โรงพยาบาลดอนตาล มีอาการ หน้ามืด ชักเกร็ง แพทย์สงสัยเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับโรคแอนแทรกซ์ เวลา 16.00 น. จึงส่งตรวจ (เลือด) เพื่อตรวจยืนยันเชื้อ
วันที่ 28 เม.ย.68 ผู้ป่วยสงสัยโรคแอนแทรกซ์มีอาการแย่ลง จึงส่งรักษาต่อโรงพยาบาลมุกดาหาร ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลดอนตาล Hemoculture Gram-Positive Bacilli โรงพยาบาลมุกดาหาร เก็บสิ่งส่งตรวจ (เลือด และ swab บาดแผล) เพิ่มเติม ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สถาบันบำราศนราดูร – วันที่ 29 เม.ย.68 ผู้ป่วยอาการแย่ลง on ET-tube GCS 2T under sedative มีภาวะ metabolic acidosis with respiratory failure with cyanosis , มีภาวะ AKI ร่วมกับ Hepatitis , เกล็ดเลือด ต่ำ 90,000, HCT 21% ปัสสาวะออกติดสาย on levophed (8: 125 ) 60 ml/hr, adrenaline (1:10) 10 ml/hr , – วันที่ 29 เม.ย 68 เวลา 22.00 น. ผลตรวจด้วยวิธี RT-PCR ที่ กรมวิทย์ฯ พบสารพันธุกรรมของเชื้อ Bacillus anthracis ในทั้งตัวอย่างเลือด และ swab บาดแผล – วันที่ 30 เม.ย 68 ผู้ป่วยเสียชีวิต 8.30 น. และได้จัดการศพตามมาตรฐาน พบผลตรวจด้วยวิธีเพาะเชื้อ Bacillus anthracis ที่ห้องปฏิบัติการสถาบันบำราศนราดูร ในตัวอย่างเลือด (ตัวอย่างแผลเพาะเชื้อ day 1 ยังคง no growth)
ปัจจัยเสี่ยง – วันที่ 12 เม.ย 68 ผู้ป่วยมีประวัติชำแหละโค งานบุญผ้าป่า และมีการแจกจ่ายเนื้อโคที่ชำแหละไปรับประทานในหมู่บ้าน
สิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว การค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสเพิ่มเติม 1. พบผู้สัมผัสรวม จำนวน 247 คน (แบ่งเป็นผู้ที่ชำแหละสัตว์ 28 คน และ ผู้ที่บริโภคเนื้อดิบ 219 คน) เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 129 คน ให้ยา Doxycycline ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 129 คน 2. พบผู้สัมผัสที่มีอาการจำนวน 1 ราย (มีอาการแผล เริ่มมีอาการวันที่ 27 เม.ย. 68 และมีประวัติร่วมชำแหละโคในวันที่ 12 เม.ย 68 พร้อมกับผู้ป่วยรายแรก) อยู่ระหว่างสอบสวนและส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม 3.จัดตั้งศูนย์คัดกรองผู้สัมผัสเพิ่มเติม ที่ศาลากลางหมู่บ้านในชุมชน
การจัดด้านสัตว์ 1.ปศุสัตว์อำเภอร่วมกับด่านกักกันสัตว์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ (โซดาไฟหรือโซเดียมไฮดรอกไซต์ 5 เปอร์เซ็นต์) ทำลายเชื้อบริเวณสถานที่ชำแหละ 2. ปศุสัตว์อำเภอ ดำเนินการเก็บตัวอย่าง (เนื้อแห้ง หนังแห้ง โคและหมู) และเก็บตัวอย่างเนื้อและเลือดที่อยู่บนเขียงที่ใช้ในการชำแหละ อุจจาระโค เพื่อส่งตรวจ (Culture) ที่ศูนย์วิจัยและและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น3. ฉีดยาปฏิชีวนะในโค ในพื้นที่ บ้านโคกสว่าง หมู่ 6 จำนวน 124 ตัว 4. ด่านกักกันสัตว์ให้ความรู้แก่พ่อค้าสัตว์ ขอความร่วมมือห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าออกในพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตร
สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป 1. ค้นหาแหล่งที่มาของเชื้อ 2.ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการในกลุ่มผู้ที่มีอาการ โดยเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเป็นระยะเวลา 60 วัน 3.มาตรการด้านสัตว์ วางแผนฉีดวัคซีนในสัตว์ ในรัศมี ๕ กิโลเมตร ภายใน ๑ สัปดาห์ โดยปศุสัตว์จังหวัดข้อมูลเบื้องต้น ครอบคลุมโคในพื้นที่ จำนวน 1222 ตัว 4. เฝ้าระวังสัตว์ป่วยตายในพื้นที่อำเภอดอนตาล จนกว่าจะไม่มีสัตว์ป่วยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 20 วัน